The End of the Tour (2016) ติดตามชีวิตของนักเขียนเดวิด ฟอสเตอร์ วอลเลส
สำหรับนักอ่านชาวไทย ชื่อของ David Foster Wallace (ต่อไปนี้ขอย่อว่าDFW เพื่อง่ายต่อการเขียน) คงไม่คุ้นเท่าไหร่นักเพราะไม่มีการแปลออกมาในบ้านเรา (รวมไปถึงประวัติต่างๆ ที่เป็นภาษาไทยก็หาอ่านยากเหลือเกิน)แต่ก็เอาเถอะ แค่ดูหนังเรื่องนี้ก็คงรู้จักตัวตนของเขามากขึ้นเยอะแล้วล่ะ
เขาเป็นนักเขียนที่ประสบความสำเร็จจาก Infinite Jest นวนิยายที่มีความหนาราวหนึ่งพันหน้านี่ทำให้ได้รับชื่อเสียง เป็นที่รู้จักในหมู่นักอ่านเป็นอย่างมาก เขาออกทัวร์พบปะแฟนๆนักอ่าน และนี่เองที่ทำให้ DavidLipsky นักข่าวจาก Rolling Stone จึงได้เดินทางติดตามสัมภาษณ์นักเขียนชื่อดังเพื่อมาเขียนบทความเรื่องราวต่างๆ จึงได้เริ่มขึ้น
หนังดำเนินเรื่องไปอย่างเรียบง่าย ทั้งสองคนค่อยๆทำความรู้จักกันในฐานะผู้สัมภาษณ์และผู้ถูกสัมภาษณ์ ตั้งคำถาม ตอบคำถามผ่านเครื่องอัดเสียง ตั้งแค่คำถามพื้นๆ สัพเพเหระทั่วไป จนล้วงลึกถึงนิสัยใจคอความสนใจ การทำงาน แนวคิด และทัศนคติของ ทำให้คนดูรู้จัก DFW มากขึ้นจนผู้ถูกสัมภาษณ์เริ่มเปิดใจ เล่าเรื่องส่วนตัวที่เจาะลึกมากขึ้น สนิทกันมากขึ้นจนทั้งสองแทบจะเรียกว่าเพื่อนสนิทกันก็ว่าได้
ในความโดดเดี่ยวของนักเขียน ไม่มีใครเข้าใจกันมากเท่านักเขียน –ส่วนตัวผมคิดเห็นอย่างนั้นเชื่อเหลือเกินว่า DFW นั้นเป็นโรคซึมเศร้าแน่ๆ เขามีปัญหา ชอบเก็บตัว ไม่ค่อยเข้าสังคมชินชากับความโดดเดี่ยวที่ได้รับมาพร้อมกับชื่อเสียงและการยอมรับของตัวเองซึ่งในข้อนี้ หาก Lipsky เป็นเพียงนักข่าวธรรมดา ในฐานะของคนทำหนังสือไม่ใช่คนเขียนหนังสือเหมือนกัน คงไม่สามารถตั้งคำถาม และทำให้ DFW เปิดใจเล่าสิ่งที่เขาคิดและรู้สึกจากภายในออกมาได้มากมากเท่านี้อย่างแน่นอน
หากเปรียบเป็นเกม The End of the Tourก็เหมือนเกมภาษามีไดอะล็อกเยอะแยะมากมายเต็มไปหมด แต่ความสนุกของมันก็อยู่บทสนทนาฉลาดๆโควทคำพูดเท่ๆ มากมาย ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากตัวผู้สัมภาษณ์และผู้ให้สัมภาษณ์ที่แลกเปลี่ยนกันแต่อีกส่วนหนึ่งก็ต้องยกความดีให้กับผู้เขียนบท ที่ย่อยสิ่งเหล่านั้นออกมาในหนังได้อย่างไม่น่าเบื่อแถมยังใช้ดำเนินเรื่อง สร้างบรรยากาศ และค่อยๆปอกเปลือกตัวละครออกมาได้เป็นอย่างดี
ลึกๆ แล้วผมคิดว่าทั้งสองนี้ต่างอิจฉาซึ่งกันและกันอยู่ไม่มากก็น้อย Lipskyอยากให้ผลงานของตัวเองเป็นที่ยอมรับและมีชื่อเสียงเช่นอย่างDFW ส่วน DFW ก็อยากเป็นที่ยอมรับของคนอื่น มีเพื่อน ไม่ต้องโดดเดี่ยวจนเกิดเป็นความอึมครึมขัดแย้งในช่วงปลายของหนังแต่สุดท้าย ก็คงไม่มีใครเข้าใจกันและกันไปมากกว่าพวกเขาทั้งสอง
ในแง่ของคนทำงานสัมภาษณ์ ทักษะการหาข้อมูลจาก Lipsky นั้นถือเป็นครูได้ดีทีเดียวดูจากคำถามที่เขาตั้ง วิธีการวางตัวกับผู้ถูกสัมภาษณ์ การล้วงข้อมูล ตอนไหนควรหยุดตอนไหนควรจะพอ ตอนไหนที่คิดว่ายังเค้นได้อีก เขาจะไปจนสุดรวมไปถึงความช่างสังเกตกับสิ่งรอบๆ ตัวของผู้ถูกสัมภาษณ์เขาก็บันทึกเอาไว้หมดราวกับถ่ายภาพทุกอย่างออกมาเลยก็ว่าได้
ตอนแรกผมคิดเพียงว่าจะหาหนังดูเพื่อผ่อนคลายแต่ที่ไหนได้มันกลับติดอยู่ในหัวจนต้องเขียนออกมาไม่อย่างนั้นคงนอนไม่หลับอย่างแน่นอน นี่ไม่ใช่หนังชีวประวัติที่ทำออกมาเพื่อสรรเสริญตัวบุคคลเพื่อมองเป็นฮีโร่ทั่วๆไป แต่มันสะท้อนให้เราเห็นอะไรหลายๆ อย่าง ในฐานะมนุษย์ ในฐานะนักเขียนที่ต้องต่อสู้กับความโดดเดี่ยวจากความคิดมากและเพ้อเจ้อ(อีกส่วนคืออีโก้ที่คิดว่าตัวเองฉลาดกว่าคนอื่น) และต้องการเป็นที่ยอมรับมากกว่าใครๆและในฐานะสื่อมวลชน ที่ข้อมูลมีราคายิ่งกว่าสิ่งอื่นใด
มันเลยเป็นหนังที่พาเราดิ่งสำรวจลึกลงไปในจิตใจของมนุษย์ที่หลากหลายและซับซ้อนวกวนราวเขาวงกต ไปมอง ไปดู ไปรู้ ไปเห็น ผ่านบทสนทนา น้องหมา บุหรี่ อากาศหนาวมาชเมลโล น้ำอัดลม และเครื่องอัดเสียง!