หมวดหมู่ : หนังตลก
เรื่องย่อ : ดูหนัง Grease (1978) กรีส เต็มเรื่อง
IMDB : tt0077631
คะแนน : 7.2
รับชม : 1239 ครั้ง
เล่น : 397 ครั้ง
กาลเวลาได้ทำให้หนัง ‘พลาสติก’ เรื่องนี้เสื่อมคุณค่าลง แต่เพราะคือสัญลักษณ์แห่งทศวรรษ 70s ยอดขายอัลบัม Soundtrack สูงอันดับสองแห่งปี (เป็นรองเพียง Saturday Night Fever) หนังเพลงทำเงินมากสุดแทนที่ The Sound of Music (1965) และส่งให้ John Travolta กลายเป็น Elvis Presley แห่งวงการภาพยนตร์, ใครเกิดทันทศวรรษนั้นย่อมคงเคลิบเคลิ้มหลงใหลคลั่งไคล้มากยิ่งทีเดียว
มันคือ ‘อะดรีนาลีน’ ฮอร์โมนของวัยรุ่นล้วนๆ เพื่อไม่ให้เฉิ่มเชยเชื่องช้าล้าหลังเพื่อน จำต้องขยับเคลื่อนร่างกายให้มีสไตล์ตลอดเวลา ปั้นแต่งหวีผมหล่อเท่ห์เฟี้ยวฟ้าว สาวๆจะได้เจี้ยวจ๊าวยินยอมให้เด็ดดอมเชยชม
ความที่พ่อแม่ยุค Baby-Boomer (กลางทศวรรษ 40s – ต้นทศวรรษ 60s) พบเจอความเหน็ดเหนื่อยยากแค้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง จึงมักหมกมุ่นตั้งใจทำงานจนไม่ค่อยมีเวลาว่างเหลียวดูแล ทำให้ลูกหลานยุค Gen X (กลางทศวรรษ 60s – ต้นทศวรรษ 80s) มีโลกส่วนตัวสูง ชอบอะไรง่ายๆตรงไปตรงมา หัวขบถขัดแย้งต่อรูปแบบวิถี ติดเพื่อน(มากกว่าครอบครัว) และไขว่คว้าแสวงหาความมั่นคงทางอารมณ์
ผมมอง Grease คือภาพยนตร์ที่สะท้อนตัวตนวัยรุ่นยุคสมัย Gen X ภาพลักษณ์ภายนอกของเขาต้องทำตัวให้หล่อเท่ห์ดูดี นำเทรนด์แฟชั่น ได้รับการยอมรับจากกลุ่มผองเพื่อน แต่สิ่งที่อยู่ภายในของต่างต้องการค้นหาสถานที่สงบสุข คนรักสำหรับพึ่งพักพิงทางใจ และเมื่อพบเจอก็มักกลายร่างจากราชสีห์เป็นลูกแมวน้อยน่ารักน่าเอ็นดู แตกต่างตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง
คำว่า ‘พลาสติก’ ที่เป็นตำนานจากหนังเรื่อง The Graduate (1967) ย่อมสามารถใช้เปรียบเทียบแทนหนังเรื่องนี้และวัยรุ่นยุคสมัยนั้น กล่าวคือภาพลักษณ์ภายนอกสง่างามดูดี นำไปสร้างสรรค์ใช้งานได้หลากหลายอเนกประสงค์ แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป ใครๆจึงเริ่มรู้จักพิษสง เศษขยะกองพะเนินย่อยสลายรีไซเคิลไม่ได้ กลายเป็นมลพิษต่อโลกและร่างกายไร้ซึ่งหนทางแก้ปัญหาเยียวยา
ดั้งเดิมของ Grease (1971) คือละครเพลง Broadway สร้างโดย Jim Jacobs กับ Warren Casey คงนำจากประสบการณ์ชีวิตของทั้งคู่ สร้างโรงเรียนสมมติ Rydell High School [ได้แรงบันดาลใจจาก William Howard Taft School, Chicago] พื้นหลังปี 1958-59 วัยรุ่นหนุ่มจากครอบครัวชนชั้นทำงาน (มีคำเรียกภาษาวัยรุ่นว่า Greasers) กับการใช้ชีวิตมัธยมปลายปีสุดท้าย ม.6 เรื่องราวความรัก มิตรภาพ อยากรู้อยากลอง ใคร่สนใจใน Sex ขณะเดียวกันก็สะท้อนพฤติกรรมความรุนแรง ท้องก่อนแต่ง ความกดดันจากสังคม ฯ
เปิดการแสดงครั้งแรกที่ไนท์คลับ Kingston Mines, Chicago เมื่อปี 1971 ด้วยความสำเร็จล้นหลามปีถัดมาได้ไปแจ้งเกิด Broadway ยังโรงละคร Broadhurst Theatre ตามด้วย Royale Theatre จนถึงปี 1980 แล้วย้ายมา Majestic Theatre สิ้นสุดที่ 3,388 รอบ ถือครองสถิติมากรอบที่สุดของ Broadway ก่อนถูก A Chorus Line แซงได้ไม่กี่ปีถัดมา, คว้า 2 รางวัล Drama Desk Award (Outstanding Choreography กับ Outstanding Costume Design) และเข้าชิง Tony Award 7 สาขา รวมถึง Best Musical แต่ไม่ได้สักรางวัล
หลังความสำเร็จล้นหลามของ Saturday Night Fever (1977) ทำให้โปรดิวเซอร์ Robert Stigwood มองหาโปรเจคอื่นที่เป็นแนว Musical ก็แน่นอนว่าต้องไปเข้าตาละครเพลง Grease ที่กำลังฮิตถล่มทลายใน Broadway ไม่พลาดติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์ดัดแปลงและวางตัว John Travolta ให้รับบทนำอีกครั้ง และเป็นผู้แนะนำ Randal Kleiser ที่เคยร่วมงานภาพยนตร์โทรทัศน์ The Boy in the Plastic Bubble (1976) มีโอกาสก้าวขึ้นมากำกับหนังเรื่องแรก
John Randal Kleiser (เกิดปี 1946) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Philadelphia, Pennsylvania, โตขึ้นเข้าเรียน University of Southern California เป็นรุ่นน้องแถมอยู่หอเดียวกับ George Lucas ปรากฎตัวในผลงานนักศึกษา Freiheit (1966) จากนั้นสร้างหนังสั้น Thesis เรื่อง Peege (1973) คว้ารางวัลมากมาย เข้าสู่วงการจากทำงานสายโทรทัศน์ ตามด้วยภาพยนตร์เรื่องแรก Grease (1978) ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ The Blue Lagoon (1980), Flight of the Navigator (1986), Honey, I Blew Up the Kid (1992) ฯ
ดัดแปลงโดย Allan Carr บทภาพยนตร์โดย Bronte Woodard ที่ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงพล็อตเรื่องราวหลายๆอย่าง ตัดออก-เสริมตัวละครใหม่ และสี่บทเพลงเขียนเพิ่ม Grease, You’re the One that I Want, Hopelessly Devoted to You, Sandy (เห็นว่าฉบับละครเพลง Revival มีการดึงทั้งสี่เพลงนี้ใส่ในการแสดงด้วยนะ)
Danny Zuko (รับบทโดย John Travolta) พบเจอตกหลุมรัก Sandy Olsson (รับบทโดย Olivia Newton-John) แต่เมื่อฤดูร้อนสิ้นสุดก็คิดว่าคงไม่มีโอกาสพบเจอกันอีกแล้ว ที่ไหนได้พอเปิดเทอมใหม่ปีสุดท้าย ณ โรงเรียน Rydell High School พวกเขาหวนกลับมาพบเจอกันอีกครั้ง ในสถานการณ์ที่จะทำให้มีโอกาสรับรู้จักพบเห็นตัวตนแท้จริงของกันและกัน
John Joseph Travolta (เกิดปี 1954) นักแสดง/นักร้อง/นักเต้น สัญชาติอเมริกา เกิดที่ Englewood, New Jersey ลูกคนเล็กจากพี่น้องหกคน แม่ Helen Cecilia เป็นนักร้องนักแสดงที่พอแต่งงานผันตัวเป็นครูสอนหนังสือ รับอิทธิพลดังกล่าวและผองพี่ที่ต่างก็เป็นนักแสดงลูกไม้เลยหล่นไม่ไกลต้น เริ่มต้นได้รับคัดเลือกเป็นหนึ่งในตัวประกอบละครเพลง Grease, ย้ายไป California สมทบซีรีย์ ภาพยนตร์เรื่องแรก The Devil’s Rain (1975), Carrie (1976), โด่งดังพลุแตกกับ Saturday Night Fever (1977) ได้เข้าชิง Oscar: Best Actor, กลายเป็นดาวค้างฟ้ากับ Grease (1978), โดดเด่นสุดในชีวิตกับ Pulp Fiction (1994)
รับบท Danny Zuko หัวหน้าแก๊งค์ Greaser ชื่อ T-Birds เวลาอยู่กับผองพวกต้องวางมาดนักเลงเก๋าเจ๊ง รักษาภาพลักษณ์สุดๆ แต่เมื่อไหร่อยู่ตัวคนเดียวหรือขณะพรอดรักกับแฟนสาว Sandy Olsson มอบความละมุ่นไมอ่อนโยน ทะนุถนอมรักเอ็นดูเธออย่างสุดๆ และเมื่อต้องตามง้อก็ยอมเปลี่ยนแปลงตนเอง กลายเป็นนักกีฬา… ให้เธอเห็นความตั้งใจจริงของตน
เสน่ห์ของ Travolta สมัยวัยรุ่นหนุ่มคือคางบุ๋ม (อีกนักแสดงที่คางบุ๋มเป็นเอกลักษณ์คือ Kirk Douglas) ทำให้สาวๆเวลาจับจ้องก็มักเหลือบมองริมฝีปาก อยากเข้าไปสัมผัสบรรจงจูบ นอกจากนี้ก็ทรงผม Elvis (มีชื่อเรียกว่า Pompadour) ตาสีฟ้า น้ำเสียงใสๆ และท่าเต้นบิดส่ายสะโพกได้อย่างสุดเซ็กซี่
แซว: เพราะสมัยนั้นเอาแต่หวีผม ปัจจุบัน Travolta ประสบปัญหาหนักกับศีรษะล้าน จนต้องมีการปลูกผมรักษาภาพลักษณ์กันเลยละ
ภาพลักษณ์ ลีลาท่าเต้นและเสียงร้อง (ที่คล้าย Elvis) ของ Travolta รับอิทธิพลจากยุค 50s (Gen Baby-Boomer) แต่ก็ทำให้คนยุค 70s (Gen X) เกิดความเคลิบเคลิ้มหลงใหล เต็มเปี่ยมด้วยพลังจากฮอร์โมนวัยรุน ตอนได้รับคำร้องขอจากเพื่อนสนิท Kenickie ให้ช่วยเป็นคนขับรถมือสองถ้าเกิดอะไรผิดพลาด พอตกลงปลงใจทุบต่อยกันเป็นพิธี เสร็จสรรพหยิบหวีขึ้นมาเสยผมทำเท่ห์ ภาพลักษณ์เป็นสิ่งสำคัญสุดของวัยรุ่นยุคนี้สินะ!
เทียบระหว่าง Saturday Night Fever (1977) กับ Grease (1978) ผมถือว่าคนละชั้นกันเลยนะ SNF ขายความสามารถลีลา ใช้ศักยภาพพรสวรรค์ระดับสุดโต่ง ขณะที่ Grease เหมือนของหวานทานเล่น คัทลอกความเป็น Elvis มามากกว่าจะเรียกว่า Travolta
Olivia Newton-John (เกิดปี 1948) นักร้องนักแสดงสัญชาติ English-Australian เกิดที่ Cambridge, Cambridgeshire ครอบครัวเชื้อสาย Jews อพยพจาก German ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ตอนเธออายุ 6 ขวบ พ่อได้งานใหม่เป็นอาจารย์ที่ Melbourne, Australia เลยพากันข้ามน้ำข้ามทะเลไปปักหลักถาวร สมัยเรียนรวมกลุ่มกับเพื่อนตั้งวงดนตรีหญิงล้วน จบออกมาทำงานจัดรายการวิทยุ พิธีกรโทรทัศน์ ออกอัลบัมร้องเพลง Country แม้ไม่เคยมีประสบการณ์แสดงแต่ Travolta หลงใหลในน้ำเสียงเลยชักชวนมาร่วมงาน ทดสอบหน้ากล้องแต่ติดสำเนียง Australian เลยมีการปรับแก้ไขให้ตัวละครมาจาก Australia เสียเลย!
รับบท Sandy Olsson หญิงสาวผู้มีความใสซื่อบริสุทธิ์ไร้เดียงสา นึกว่าจะแค่มาเที่ยวแต่ครอบครัวกลับปักหลักอยู่อเมริกา โชคชะตานำพาให้เข้าโรงเรียน Rydell High School กลายเป็นสมาชิกใหม่กลุ่ม Pink Ladies พบเจออดีตคนรัก Danny Zuko แต่เขากลับแสดงออกขั้วตรงกันข้ามกันที่ตนเคยรู้จัก นี่มันเกิดอะไรขึ้นกันแน่?
ความสดใสบริสุทธิ์ของ Newton-John อยู่ที่การแต่งตัวเลยนะ ช่วงแรกๆจะเหมือนลูกคุณหนูที่ถูกทะนุถนอมดั่งไข่ในหิน แต่เมื่อค่อยๆเรียนรู้จักตัวตนและสาเหตุผลเกี่ยวกับภาพลักษณ์ (ได้รับอิทธิพลจากกลุ่มเพื่อนสาว Pink Ladies ที่ต่างแรดแรงกันถ้วนหน้า) ตอนจบปรับเปลี่ยนตัวเองกลายเป็น Greaser สาวเปรี้ยวจี๊ดขึ้นมาทันที
Newton-John ไม่ได้จริงจังกับงานแสดงสักเท่าไหร่นะ คงไม่ใช่งานถนัดของเธอจริงๆนะแหละ เอาดีเด่นด้านการร้องเพลงประสบความสำเร็จกว่าเยอะ บทเพลงดังๆของเธอ อาทิ I Honestly Love You (1974), Have You Never Been Mellow (1975), Xanadu (1980), Physical (1981) [เหล่านี้คือเพลงที่ไต่ขึ้นอันดับ 1 ชาร์ท Billboard Hot 100]
สำหรับคู่รอง Jeff Conaway (1950 – 2011) นักร้องนักแสดงสัญชาติอเมริกัน โด่งดังกับซีรีย์ Taxi (1978-83) และ Babylon 5 (1994-98), รับบท Kenickie เพื่อนสนิทของ Danny เมื่อปิดเทอมฤดูร้อนทำงานเก็บออมเงินซื้อรถ แม้จะได้แค่คันโกโรโกโส แต่ค่อยๆทะนุถนอมฟูมฟักร่วมกับผองเพื่อน จนกลายเป็น Grease Thunder สุดเท่ห์ เพื่อใช้แข่งขัน Thunder Road ครอบครองสิทธิ์เจ้าของ Pink Ladies ที่ตนเองตกหลุมรักอยู่กับ Betty Rizzo
Stockard Channing (เกิดปี 1944) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน กลายเป็นตำนานกับบท First Lady Abbey Bartlet ซีรีย์ The West Wing (1999-2006), รับบท Betty Rizzo หัวหน้ากลุ่ม Pink Ladies เป็นคนมองโลกในแง่ร้ายจัดๆ ชีวิตสนแต่จ้องจับผู้ชาย แต่เพราะมากรักกับ Kenickie เลยพยายามเล่นตัวเรียกร้องความสนใจ นี่อาจรวมถึงตอนประจำเดือนไม่มาตรงกำหนด เป็นใครย่อมเพ้อไปไกลนี่ฉันพลาดท้องก่อนแต่งหรือเปล่านี่?
ข้อเสียหนึ่งของบรรดานักแสดงนำ คือพวกเขาและเธอต่างอายุเกิน 20+ แล้วทั้งนั้น ขณะที่อายุตัวละครจริงๆควรจะ 16-18 เรียน ม. 6 ใครช่างสังเกตจะสามารถจับจ้องริ้วรอยเหี่ยวย่น สาวๆจะเห็นชัดเป็นพิเศษเครื่องสำอางค์หน้าเตอะ
นักเต้นสมทบทั้งหมดในหนัง ล้วนเป็นผู้ชนะรางวัลโน่นนี่นั่นจากการประกวดต่างๆทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มความสมจริงให้กับหนัง ซักซ้อนเตรียมการล่วงหน้าอยู่เป็นเดือนๆ ต้องชมเลยว่าเด็ดสาระตี่จริงๆ
เกร็ดไร้สาระ: นักแสดงตัวประกอบทั้งหมดในหนัง ทุกคนต้องเคี้ยวหมากฝรั่งเฉลี่ยวันละ 5,000 อัน จนสิ้นสุดการถ่ายทำประมาณ 100,000 ชิ้น บ้าไปแล้ว!
ถ่ายภาพโดย Bill Butler ตากล้องยอดฝีมือสัญชาติอเมริกัน ผลงานเด่นของ Butler อาทิ The Conversation (1974), Jaws (1975), Rocky Trilogy, One Flew Over the Cuckoo’s Nest (1975), Grease (1978) ฯ
เริ่มต้น Prologue ด้วยบรรยากาศกลิ่นอายของ From Here to Eternity (1953) ถ่ายทำที่ Leo Carrillo State Beach, Malibu สังเกตว่านี่อาจเป็นตอนเช้ามากกว่าตะวันกำลังตกดิน เพราะจากแสงสีส้มอมแดงสวยๆกลับค่อยๆสว่างขึ้น แทนด้วยจากความเพ้อฝัน (ยามค่ำคืน) -> สู่ความจริง (ตะวันขึ้น) สิ้นสุดฤดูร้อนก็ถึงเวลาแยกจาก
Animation Title ทำอนิเมชั่นโดย John Wilson ในสังกัดของสตูดิโอ Walt Disney ก็ด้วยเหตุนี้เลยมีตัวละครรับเชิญ Bambi (1942) สื่อถึงความเป็นเจ้าหญิงของ Sandy Olsson
เรื่องราวของ Title Credit คือเช้าวันแรกของเปิดเทอมใหม่ เริ่มต้นแบ่งเป็น Danny Zuko, Sandy Olsson, Betty Rizzo, Kenickie สี่ตัวละครหลักของหนัง จากนั้นก็ขับขึ้นรถมาโรงเรียน ซึ่งทั้งหมดถือเป็นการล้อเลียนแบบขำๆ อาทิ
– Danny ตื่นเช้ามาหัวยุ่งๆ อย่างแรกที่ทำคือบีบเจล (ออกมาเป็น The Blob) แล้วหวีผม
– Sandy คือเจ้าหญิง/ลูกคุณหนู ตื่นเช้ามาตรงไปนั่งหน้ากระจก (ใครงามเลิศในปฐพี?) สรรพสัตว์จาก Bambi เข้ามาห้อมล้อม
– Betty จะเป็นการแซวเสื้อคอเต่า สวมแล้วคอยืดยาว (มันควรเรียกว่าคอยีราฟไม่ใช่หรือนั่น)
– Kenickie ขมุกอยู่กับการแต่งรถ เสร็จแล้วหัวฟูๆ หยิบหวีขึ้นมาปัดซ้ายขวาเช่นกัน!
โรงเรียนสมมติ Rydell High School เห็นแวบแรกผมละนึกว่าที่เดียวกับ Rebel Without a Cause (1955) ฉากภายนอกถ่ายทำยัง Venice High School, California รวมถึงสนามกีฬาบาสเกตบอล, เบสบอล และวิ่งแข่ง ขณะที่ฉากภายในรวมถึงหอประชุมงานเต้นรำ ถ่ายทำที่ Huntington Park High School, California
ใครชอบสังเกตอาจขี้สงสัย ทำไมหลายๆช็อตที่ Frosty Palace ถึงมีภาพเบลอๆ เซนเซอร์อะไรหรือเปล่า? ที่ผมค้นหาพบนั่นคือป้ายโฆษณา Coca-Cola ที่ตอนแรกเป็นสปอนเซอร์ให้กับหนัง แต่ภายหลังไม่ทราบสาเหตุเปลี่ยนเป็น Pepsi-Cola ระหว่างถ่ายทำฉากนี้ใหม่สิ้นเปลืองงบประมาณพร้อมเสียเวลา ก็เอาง่ายเข้าว่าแบบนี้ดีกว่า (แต่ก็ยังพบเห็นอีกหลายป้ายที่ไม่ได้ทำการเซนเซอร์นะครับ)
“We just had to hope that Pepsi wouldn’t complain. They didn’t”.
โรงหนัง Drive-In ถ่ายทำที่ Burbank Pickwick Drive-In (ปิดกิจการปี 1989 ปัจจุบันกลายเป็นห้างสรรพสินค้าไปแล้ว) มักฉายหนังควบเกรด B
– The Blob (1958) แนว Sci-Fi Horror กำกับโดย Irvin Yeaworth นำแสดงโดย Steve McQueen
– I Married a Monster from Outer Space (1958) กำกับโดย Gene Fowler Jr.
นี่คงเป็นการเลือกเลนส์ระยะใกล้ ปรับโฟกัสให้ภาพพื้นหลังมีความเบลอๆ แสงไฟเห็นเป็นจุดวงกลมเสมือนดวงดาวดาราห้อมล้อมหนุ่มสาวคู่นี้ ที่ยังแบ่งแยกกันอยู่ด้วยเหล็กคั่นกลางกระจกรถ
สถานที่แข่ง Thunder Road คือบริเวณ Los Angeles River งานภาพช่วงนี้จะเน้น Long Shot เป็นส่วนใหญ่ แถมด้วยล้อรถมีเหล็กยื่นออกมา ดูแล้วคงเป็นความต้องการเคารพคารวะ Ben-Hur (1959) อย่างแน่แท้
จบการแข่งขันที่กระโดดข้ามแม่น้ำสำเร็จ/ไม่สำเร็จ ถือเป็นสัญลักษณ์การก้าวผ่านช่วงชีวิตวัยรุ่นกระมัง
ตัดต่อโดย John F. Burnett กับ Robert Pergament, หนังใช้การเล่าเรื่องสองฝั่งคู่ขนานในสองมุมมองของกลุ่มวัยรุ่นหนุ่ม-สาว T-Birds vs. Pink Ladies คู่หลักคือ Danny Zuko กับ Sandy Olsson และคู่รอง Kenickie กับ Betty Rizzo
ไฮไลท์ของการตัดต่อคือฉากแข่งขันเต้นรำออกโทรทัศน์ ถือเป็น Sequence มีรายละเอียดเยอะมาก และเต็มไปด้วยความวุ่นวายสุดๆ ใช้วิธีการตัดแบ่ง Long Take แล้วร้อยสลับไปมากับ Re-action Shot,
– เวลาครูใหญ่พูดประกาศจบประโยค จะตัดให้เห็นการโต้ตอบของนักเรียน
– หรือขณะท่วงท่าลีลายากๆ ก็สลับให้เห็นปฏิกิริยาของผู้ชม (บางทีก็เพื่อน, ครูใหญ่, ผู้ชมทางบ้าน ฯ)
มีความผิดพลาดระหว่างการตัดต่อ ฉากสุดท้ายของหนังสังเกตว่าจะไม่มี Danny กับ Sandy จูบร่ำราบนรถที่กำลังลอยขึ้นฟ้า ก็ไม่รู้เกิดความผิดพลาดอะไรทำให้ซีนนั้นสูญหายไป หลงเหลือเพียงฟีล์ม Negative ขาวดำ ซึ่งผู้กำกับ Kleiser ก็พยายามเก็บกู้ฟุตเทจนั้นแล้วทำการ Colorization ใส่สีเข้าไปเมื่อตอนออกฉายซ้ำ Re-Release ปี 1998 แต่ได้ผลลัพท์น่าผิดหวังพอสมควร ซึ่งตัวเขา(ที่ปัจจุบันยังมีชีวิตอยู่) ก็ยังคงแอบซุ่มทำ Colorization ในรูปแบบดิจิตอลเพื่อให้คุณภาพดีกว่านี้ เพื่อนำออกขายเมื่อตอนครบรอบ 50 ปีของหนัง ปี 2028
เพลงประกอบเรียบเรียงสำหรับภาพยนตร์โดย Michael Gibson ซึ่งเฉพาะอัลบัม Soundtrack ของหนังมียอดขายในอเมริกาประมาณ 8 ล้านก็อปปี้ สูงขนาดนี้แต่กลับได้เพียงอันดับสองของปีนั้น เป็นรอง Saturday Night Fever (1977) [เรื่องนี้ฮิตถล่มทลาย 15 ล้านก็อปปี้ แต่ก็ไม่ใช่สูงสุดตลอดกาลในปัจจุบันแล้วนะ!]
Original Song บทเพลงแรก Grease หรือ Grease Is the Word แต่งโดย Barry Gibb (จากวง Bee Gees) ขับร้องโดย Frankie Valli (จากวง The Four Seasons) ยอดขายเฉพาะซิงเกิ้ลนี้ 7 ล้านก็อปปี้ ไต่ขึ้นถึงอันดับ 1 ชาร์ฺท Billboard Hot 100, นี่เป็นบทเพลงที่ไม่เพียงอธิบายความหมายของคำว่า Grease แต่ยังบอกเล่าถึงใจความคร่าวๆของหนัง
“This is a life of illusion
Wrapped up in troubles
Laced in confusion
What are we doing here”
ไดเรคชั่นของบทเพลง Summer Nights ผมว่าเจ๋งสุดในหนังแล้ว! เป็นการเล่าย้อนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อนของ Danny Zuko กับ Sandy Olsson ซึ่งจะผลัดกันร้องตัดสลับไปมาท่อนต่อท่อน พร้อมคอรัสของทีมหนุ่มๆสาวๆ ที่จะคอยเร่งเร้าย้ำๆ ‘Tell me more!’ ขณะที่ท่าเต้นฝั่งผู้ชายมักชอบยืนขยับเป้าตุง ผู้หญิงจะลัลล้าเดินวิ่งไปมาโดยรอบ และช็อตจบเป็นการซ้อนภาพแบ่งครึ่ง ต่างกำลังคร่ำครวญคำนึงคิดถึงกันและกัน
บทเพลงเข้าชิง Oscar: Best Original Song ชื่อ Hopelessly Devoted to You แต่งโดย John Farrar ขับร้องโดย Olivia Newton-John ไต่ขึ้นสูงสุดอันดับ 3 ชาร์ท Billboard Hot 100
ความเจ๋งของเพลงนี้คือเป็น Long Take จับจ้องเคลื่อนไหวติดตาม Newton-John ตั้งแต่ต้นไปจนเกือบจบ ค่อยตัดไปเห็นภาพของหนุ่มคนรักเป็นเงาสะท้อนในสระน้ำ รำลึกถึงความทรงจำเมื่อครั้งฤดูร้อน
You’re the One That I Want แต่งโดย John Farrar ขับร้องคู่โดย John Travolta กับ Olivia Newton-John เฉพาะซิงเกิ้ลนี้ขายได้ 6 ล้านก็อปปี้ในอเมริกา ไต่สูงสุดอันดับ 1 ชาร์ท Billboard Hot 100
เริ่มจากเสียงผิวปากวี๊ดวิ้ว แล้วอึ้งทึ่งไปเลยกับภาพลักษณ์ใหม่ของ Sandy Olsson จากลูกคุณหนูผ้าพับไว้กลายเป็นสาวเปรี้ยวสุดเซ็กซี่ เห็นเช่นนี้ราวกับมีกระแสไฟไหลสั่นสะท้านทั่วร่างกาย มีแต่เธอเท่านั้นที่ฉันต้องการ ยินยอมสยบศิโรราบทิ้งตัวลงนอนแทบเท้า เดินติดตามไปทุกแห่งหน แม้สถานที่เต็มไปด้วยอันตราย พื้นแผ่นดินสั่นไหว ก็ขอแค่ให้ได้ครอบครองเป็นเจ้าของหนึ่งเดียว
I got chills, they’re multiplying
And I’m losing control
‘Cause the power, you’re supplying
It’s electrifying
เป็นวัยรุ่นไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องการการยอมรับจากผองเพื่อน โดดเด่นนำเทรนด์แฟชั่น ค้นหาพบเอกลักษณ์ตัวตน และพิสูจน์ว่าฉันคือที่หนึ่งแตกต่างจากใครอื่น ซึ่งทั้งหมดนี้มีฮอร์โมนเพศ ‘Sexual Desire’ เป็นแรงผลักขับเคลื่อน ทำการสำรวจค้นหา พบเจอไขว่คว้า และถ้าได้รับการตอบสนองเพียงพอ ชีวิตก็จักดำเนินไปในทิศทางถูกต้องอันดี เติบโตเป็นผู้ใหญ่อย่างสมวัยประกอบ
ชื่อกลุ่มแก๊งค์ T-Birds ตัวอักษร T อาจมาจาก Teen แทนด้วยวัยรุ่น ขณะที่ Birds คือฝูงนกในวัยกำลังพร้อมโผลโบยบินสู่อิสรภาพ ไร้ขอบเขตจำกัดจากครอบครัว โรงเรียน และความเป็นเด็ก, ขณะที่ Pink Ladies ค่อนข้างจะตรงตัวสักหน่อย คือกลุ่มผู้หญิงมีความโหยหาโรแมนติก ความรักจากผู้ชายเท่านั้น!
กฎสามข้อของการเต้น
1) คู่เต้นต้องชาย-หญิงเท่านั้น
2) คู่ไหนไม่ถูกใจกรรมการ โดนแตะบ่าต้องออกจากวงทันที
3) ใครเต้นท่าน่ารังเกียจรับไม่ได้ จะถูกตัดสิทธิ์ทันที
การเต้นรำคู่ ได้รับการตีความมานมนานตั้งแต่ Fred Astaire – Ginger Rogers เปรียบได้กับการร่วมรักมี Sex มันเลยไม่แปลกอะไรที่พอ Danny ถูกเปลี่ยนให้เต้นกับคนอื่น Sandy เลยงอนตุ๊บป่องวิ่งหนีหายตัวไปเลย ยิ่งท่วงท่าลีลาเร้าใจมากแค่ไหน ย่อมสื่อถึงค่ำคืนอันสุดพิเศษนั้น กฎข้อแรกต้องชาย-หญิง ตรงตัวอยู่แล้ว ขณะที่สองสามเพื่อยับยั้งเตือนสติวัยรุ่น อย่าให้มันหมกมุ่นมากเกินงาม เจ๋งสุดของชีวิตคือความเพียงพอดีเหมาะสม
รถแข่ง Grease Thunder ยานพาหนะคู่กายของหนุ่มๆ นี่ก็เป็นอีกสัญลักษณ์ที่สื่อได้ถึงอวัยวะเพศชาย ขัดเงาเป็นประกาย มีแล้วได้แอ้มสาว แต่ถ้ามันโกโรโกโสหน่อยใครไหนจะสนใจ!, การแข่งขัน Thunder Road ก็เปรียบได้กับอสุจิสองตัววิ่งแข่งไปผสมพันธุ์รังไข่เพศหญิง ใครถึงก่อนปฏิสนธิย่อมคือผู้ชนะ ได้ครอบครองกายใจของหญิงสาว
เมื่อวัยรุ่น Gen X ไม่สามารถแสวงพบความรักจากพ่อ-แม่ สถานที่สิงสถิตย์อยู่ของพวกเขาจึงคือท่ามกลางผองเพื่อนฝูง สร้างภาพลักษณ์เฉพาะตัวให้ได้รับการยอมรับ พิสูจน์ความโดดเด่นแตกต่างเป็นที่หนึ่ง แต่เมื่อไหร่พบเจอหญิงสาวตกหลุมรัก นั่นจะคือสิ่งที่เขาทะนุถนอมเอ็นดู ยินยอมศิโรราบพร้อมทำทุกสิ่งอย่าง ให้เติมเต็มสิ่งขาดหายไปภายในจิตใจ แล้วนั่นจะกลายเป็นบ้านหลังใหม่ สามารถเติบโตขึ้นถึงวัยผู้ใหญ่เต็มตัว แล้วทุกสิ่งอย่างก็เพิ่งถึงจุดเริ่มต้นเท่านั้น
หนังมีความ Nostalgia ของยุคสมัยแทรกอยู่ด้วย นั่นเพราะปีออกฉาย 1978 แต่พื้นหลังดำเนินเรื่อง 1958 เกือบๆสองทศวรรษคนละ Generation กันเลย นั่นทำให้ผู้ใหญ่สมัยนั้นเกิดความเคลิบเคลิ้มหลงใหลหวนระลึกถึงอดีต ขณะที่คนรุ่นใหม่ในยุค Disco พบเห็นความร่วมสมัยโคตรเท่ห์ นี่น่าจะคือสาเหตุผลหนึ่งทำให้หนังประสบความล้นหลาม Blockbuster ในระดับไม่มีใครคาดคิดถึง
ด้วยทุนสร้าง $6 ล้านเหรียญ รายรับในอเมริกา $188.7 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลก $395 ล้านเหรียญ
– สูงสุดแห่งปี 1978 [สูงกว่า Superman (1978)]
– อันดับสามทำเงินสูงสุดตลอดกาลขณะนั้น เป็นรองเพียง Jaws (1975) และ Star Wars: A New Hope (1977)
– ทุบสถิติหนังเพลงทำเงินสูงสุดของ The Sound of Music (1965) ถ้านับเฉพาะหนังเพลง Live-Action, ซึ่งเรื่องที่สามารถโค่นตำแหน่งนี้ลงได้คือ Mamma Mia! (2008) ก่อนตามด้วย Beauty and the Beast (2017) [แต่ถ้าเฉพาะรายรับในอเมริกา จะมีแค่ Beauty and the Beast (2017) ที่สูงกว่า Grease (1978)]
– ปรับค่าเงินเทียบปี 2018 ตามอ้างอิงของ Boxofficemojo รายรับในอเมริกา $713.5 ล้านเหรียญ ติดอันดับ 28 หนังทำเงินสูงสุดตลอดกาล มากกว่า The Avengers (2012) และ Black Panther (2018)
มีความพยายามสร้างภาคต่อ Grease 2 (1982) นำแสดงโดย Maxwell Caulfield ประกบ Michelle Pfeiffer ด้วยทุนสร้าง $13 ล้านเหรียญ ทำเงินได้เพียง $15 ล้านเหรียญ เสียงวิจารณ์ก็ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน ก็แน่ละว่าสิ่งที่เป็นเทรนด์แฟชั่นแห่งยุคสมัย มักจะประสบความสำเร็จได้เพียงครั้งเดียว
ได้เข้าชิง Golden Globes ถึง 5 สาขา ไม่ได้สักรางวัล
– Best Motion Picture – Comedy or Musical [พ่ายให้กับ Heaven Can Wait (1978) ของผู้กำกับ Warren Beatty, Buck Henry]
– Best Actor – Comedy or Musical (John Travolta)
– Best Actress – Comedy or Musical (Olivia Newton-John)
– Best Original Song บทเพลง Grease
– Best Original Song บทเพลง You’re the One that I Want
ขณะที่ Oscar ได้เข้าชิง Best Music, Original Song บทเพลง Hopelessly Devoted to You พ่ายให้กับ บทเพลง Last Dance จากเรื่อง Thank God It’s Friday (1978)
นอกจากบทเพลงเพราะๆ และความหล่อเท่ห์ของ John Travolta ที่คือ Iconic แห่งยุค นอกนั้นก็ไม่มีอะไรให้ผมชื่นชอบประทับใจเสียเท่าไหร่ เหน็ดเหนื่อยกับอะดรีนาลีนและความโรแมนติกกิ๊กก๊อก แต่ก็มองเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ อยากรู้จักเข้าใจคน Gen X ก็ต้องรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้
แนะนำคอหนัง Musical แนวรักๆใคร่ๆของวัยรุ่นรุ่น Gen X, ชื่นชอบบทเพลงเพราะๆแห่งยุค 70s, เสื้อผ้าหน้าผม เทรนด์แฟชั่น นักออกแบบดีไซเนอร์, แฟนๆนักแสดง John Travolta, Olivia Newton-John ไม่ควรพลาด
จัดเรต PG กับความเป็นวัยรุ่น มากคลั่งด้วยอะดรีนาลีน