“If my best friend hides his farts from me then what else is he hiding from me, and why does that make me feel so alone?”
นี่คือหนังที่เล่าถึงความสัมพันธ์ของผู้คนและการใช้ชีวิตในสังคมด้วยลีลาที่สุดโต่ง เทรลเลอร์ของหนังเรียกแขกได้พอสมควรด้วยการใส่ฉากที่บ้าบอ พิลึกพิลั่น อะไรคือการที่ผู้ชายคนหนึ่งนั่งอยู่บนหลังของศพที่โจนทะยานฝ่าคลื่นราวกับเจ็ทสกีด้วยแรงตด ครับ หนังเวียร์ดใช้ได้และไม่ได้บอกอะไรกับคนดูแม้แต่น้อย หนังอาจไม่ได้มีกระแสในบ้านเรามาก เพราะฉายจำกัดโรงที่อเมริกา แต่การที่หนังได้รับรางวัลชนะเลิศ สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยม (Directing Award) จากเทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์ (Sundance) ก็น่าจะเป็นการการันตีถึงความเป็นหนังดีอยู่บ้าง
...
ครึ่งแรกของการนั่งดู อุทานว่า “อะไรของมันวะ” บ่อยมาก ผู้กำกับเล่นอะไรของมันก็ไม่รู้ ฟัคสัส ๆ อันนี้ชมนะ หนังเปิดฉากมาให้เราเห็นภาพของกระทาชายนาม “แฮงค์” (Paul Dano) ผู้กำลังจะผูกคอตายหน้าถ้ำบนเกาะร้างขนาดเล็ก ภูเขาที่มีเพียงหนึ่งเดียวบนเกาะช่างดูคล้ายกับก้น ใช่ อ่านไม่ผิดหรอก และถ้ำก็อยู่ตรงกลางภูเขาราวกับผกก. จงใจให้เห็นเป็นรูตูด ซึ่งอีพระเอกนี่ก็ไปฆ่าตัวตายขวางรูตูดพอดี ขณะที่จะหย่อนขาลงจากตั่ง ก็พาลเหลือบไปเห็นชายอีกคนนอนคว่ำหน้าอยู่ริมทะเล จากนั้นความสัมพันธ์สุดป่วงระหว่างคนกับศพก็เริ่มขึ้น
ศพทักทายแฮงค์ด้วยเสียงตด แต่อย่าได้คิดว่ามันจะหยุดแค่นั้น เพราะศพมันจะตดให้เราฟังทั้งเรื่อง ส่วนแฮงค์ก็ฮัมเพลงทั้งเรื่องเหมือนกัน แฮงค์เป็นเด็กหนุ่มที่หนีออกจากบ้านมาเพียงเพื่อจะพบว่าตัวเองติดเกาะ หนังบอกเราว่าแฮงค์นั่งเรือมา แล้วเจอกับพายุเข้า ซึ่งมาตรงนี้ทำให้ผมชักไม่แน่ใจว่านี่เป็นการผจญภัยสู่ตัวตนภายในเชิงสัญลักษณ์หรือเป็นการสำรวจโลกเซอร์เรียลภายนอกกันแน่ การปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับศพก็แสนประหลาด มีลักษณะของการพึ่งพาอาศัยกันจนแยกไม่ออก แฮงค์เลิกฆ่าตัวตายเพราะศพ ออกจากเกาะได้ก็เพราะศพ ศพเรียกตัวเองว่า “แมนนี่” (Daniel Radcliffe) ศพให้อะไรแฮงค์หลายอย่าง ตดใช้เป็นไอพ่นได้ น้ำจากปากศพใช้ดื่มดับกระหายได้ เจ้าโลกใช้แทนเข็มทิศได้ (WTF!) ฯลฯ ซึ่งผมเดาว่านี่เองที่เป็นที่มาของชื่อ Swiss Army Man เพราะตั้งชื่อล้อกับมีดพับ Swiss Army ที่ทำงานได้อรรถประโยชน์มาก ๆ แต่ในขณะเดียวกัน ศพก็มีชีวิตขึ้นมาได้เพราะแฮงค์เหมือนกัน เป็นความสัมพันธ์ที่พิลึก ราวกับเป็นการเยียวยาระหว่างความเป็นและความตาย
ตลอดทั้งเรื่อง เราจะคาดเดาอะไรไม่ได้เลย เพราะผกก. เล่าได้ติสต์แตกราวกับปล่อยให้เนื้อเรื่องไหลไปตามทางของมัน เพลงประกอบบรรยากาศแบบไซคีเดลลิคที่บรรเลงบาง ๆ ให้ความรู้สึกล่องลอยอย่างน่าประหลาด เราจะเห็นการเติมเต็มระหว่างคนเป็นกับคนตายภายใต้ฉากที่รกครึ้มและรายล้อมไปด้วยป่าไม้ ผกก. กลั่นแกล้งตัวละครของเขาให้หลุดจากการติดเกาะแล้วมาหลงป่าแทน เพื่อที่จะหลุดจากสภาวะนั้น แฮงค์พยายามใช้ประโยชน์จากแมนนี่ทุกวิถีทาง ด้วยการกระตุ้นให้แมนนี่เกิดความรู้สึกต่าง ๆ แฮงค์สอนให้คนตายรู้จักความหมายของชีวิต ความรัก มิตรภาพ แม้จะเป็นการสอนที่แฝงความต้องการหลอกใช้ก็ตาม
...
ส่วนแมนนี่… ราวกับเด็กเกิดใหม่ ขณะที่เขาเรียนรู้ความประเสริฐของชีวิตจากแฮงค์ เขาก็ทำให้แฮงค์ตระหนักถึงความอัปลักษณ์ของชีวิตตนเองเช่นกัน—ความกลัวที่ทำให้เขาหนีออกจากบ้าน แต่ทั้ง ๆ ที่หนีออกมาแล้ว ทำไมความกลัวถึงยังคงอยู่และตามติดเป็นเงาตามตัว ไม่ว่าจะไปที่ไหน แฮงค์พกความกลัวไปทุกที่ และมันจำกัดสิ่งที่เขาทำได้และควรจะทำ แฮงค์สอนแมนนี่เรื่องชีวิต แต่เขากลับกลัวที่จะใช้ชีวิตจนต้องหาทางออกด้วยการพยายามปลิดชีวิต สอนแมนนี่ให้รู้จักความรัก แต่เขาเองกลับไม่กล้าเข้าไปบอกรักสาวที่ชอบ สอนเรื่องมิตรภาพ แต่ก็กลัวที่จะเปิดเผยด้านแย่ ๆ และแสดงความจริงใจต่อกัน เราจะเห็นว่าอุปนิสัยของแฮงค์เป็นลักษณะที่พบเห็นได้ทั่วไป คนที่เก่งในเรื่องของคนอื่น บางครั้งก็สิ้นท่าในเรื่องของตัวเองได้เหมือนกัน
ครั้งหนึ่ง แมนนี่เล่าความหวังให้แฮงค์ฟังหากได้กลับบ้านว่า “เมื่อฉันกลับบ้าน ฉันจะแสดงให้ซาราห์เห็นทุกวันเลยว่าฉันแคร์เธอมากแค่ไหน ไม่ว่าเธอต้องการอะไร ถ้าเธอหิวน้ำ เธอก็มาเอาจากฉันได้ เธอจะใช้ตดของฉันไปไหนก็ได้ที่เธออยากจะไป”
ฮ. นายจะมาใช้ตดของนายกับคนอื่นไม่ได้นะ
ม. ทำไมล่ะ
ฮ. ก็เพราะมันเพี้ยนน่ะสิ ผู้คนไม่ชอบให้คนอื่นตด
ม. เพราะงี้เหรอนายถึงไม่ตดเวลาอยู่กับฉัน
ฮ. ไม่ใช่ ฉันแค่…ชอบตดตอนอยู่คนเดียว ไม่ก็อั้นเอาไว้ นั่นคือสิ่งที่นายควรจะทำ
ม. น่าเศร้าจัง น่าเศร้าจริง ๆ …เราจะกลับบ้านไปทำไม มันเหมือนกับนายจะกระดิกตัวทำอะไรไม่ได้เลย
อดคิดไม่ได้ว่าบางครั้ง สังคมก็ไม่ต้องการความตรงไปตรงมา การเปิดเผยแทนที่จะทำให้รู้สึกสบายใจ แต่สังคมกลับตั้งข้อระแวงสงสัยว่าอาจทำไปเพราะมีนัยแอบแฝง การเข้าสังคมและอยู่ในสังคมได้ เราต้องเรียนรู้ที่จะฉาบการกระทำของเราด้วยมารยาท ความเกรงใจ และความเหมาะสม นี่ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร การเอาใจเขามาใส่ใจเราย่อมเป็นสิ่งดี แต่หลายครั้งมันก็กลายเป็นทางอ้อมที่ทำให้เราไปถึงจุดหมายล่าช้า ท้ายที่สุดแล้วการบอกความในใจออกไปตรง ๆ แล้วยอมรับผลที่ตามมา ย่อมดีกว่าการอ้อมไปอ้อมมาจนไม่ทันการรึเปล่า
...
ประเด็นอีกอย่างที่น่าสนใจของหนังเรื่องนี้คือ การทำอะไรเดิม ๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า แฮงค์เอ่ยถึงทฤษฎีที่เขาเรียกว่า กฎแห่งการถดถอย เมื่อทำอะไรครั้งแรก เรามักทุ่มเทกำลังความสามารถอย่างเต็มที่ แต่พอทำนานเข้าจนกลายเป็นกิจวัตร ไม่เพียงแต่ความสดใหม่จะถดถอยเท่านั้น กระทั่งความมุ่งมั่นที่มีให้ก็พลอยหดหายไปด้วย
“บางครั้งเวลานายทำเรื่องเดิม ๆ ซ้ำกัน มันมักจะไม่รู้สึกอะไรอีก”
คำพูดนี้บ่งบอกถึงทัศนคติของแฮงค์ที่มองทุกสิ่งทุกอย่างว่าเป็นเรื่องไม่โสภา เราจะพยายามกันไปทำไมในเมื่อสุดท้ายแล้วเราก็จะเบื่อ ซึ่งความคิดเช่นนี้เองทำให้แฮงค์รู้สึกเบื่อหน่ายจนไม่อยากทำอะไรเลย ไม่ต่างอะไรกับสนิมความคิด ปัญหาคือเราจะยอมให้มันกัดกร่อนจิตวิญญาณของเราจนไม่เหลือความยินดีปรีดาในชีวิตรึเปล่า บางทีเราอาจต้องเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อสิ่งนั้น ๆ บ้าง การทำอะไรซ้ำเดิมอาจเปรียบได้กับการลับมีด ยามลับกลับไปกลับมาอาจนำมาซึ่งความเบื่อหน่าย แต่ผลของมัน (ความคม) ก็คุ้มค่าแก่การลงแรงมิใช่หรือ
อีกทฤษฎีหนึ่งก็น่าสนใจคือ กฎแห่งการย้อนกลับ แฮงค์พูดถึงความสัมพันธ์กับคนรัก “ยิ่งนายมองฉันมากเท่าไหร่ นายจะยิ่งเกลียดฉันมากขึ้นเท่านั้น” ซึ่งเป็นเรื่องของความเบื่อหน่ายเมื่ออยู่ด้วยกันนานเข้า เราจะรับมือกับมันอย่างไรก่อนที่ความรักใคร่จะเปลี่ยนเป็นความเกลียดชัง
ผมยอมรับว่าหนังเรื่องนี้เกินความคาดหมายอยู่มาก เทคนิคการตัดต่อทำได้รวดเร็ว กระชับ ทำให้หนังไม่ชวนง่วง สไตล์การเล่าเรื่องอาจไม่ได้หวือหวาอะไร แต่การนำเสนอของผกก. น่าสนใจและชวนให้ติดตาม ทำให้เราไม่อาจมองข้ามไปได้ ตอนจบของหนังมีการหักมุมอยู่บ้าง อย่างน้อยก็หักมุมจากความคาดเดาส่วนตัว และผมอยากจะสรุปหนังทั้งเรื่องด้วยคำพูดที่ปิดฉากในตอนสุดท้ายว่า
“WTF”