ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า จีนจำกัดการฉายภาพยนตร์ต่างประเทศปีละ 37 เรื่อง ฉะนั้นหนังที่ผ่านกองเซ็นเซอร์ของจีนได้มันต้องเป็นที่ยอมรับได้ในจีน ปกติจะมีแค่หนังอเมริกาเท่านั้นที่เป็นหนังที่ทำรายได้เยอะในจีน แต่หนังอินเดียเรื่องนี้ทำได้
ความรู้สึกหลังรับชม
เราเองค่อนข้างมั่นใจว่าหนังอินเดียเรื่องนี้จะต้องออกมาดี เพราะมี "อาเมียร์ ข่าน" กล่าวได้ว่าเขาคือทอม แฮงค์เวอร์ชั่นบอลลีวูดของ เพราะเล่นเรื่องไหนก็เอาอยู่ สวมบทบาทคนนั้นๆจนราวกับว่าเขาเกิดมาเป็นคนนั้น ซึ่งฉายาทอม แฮงค์แห่งบอลลีวูดก็ไม่ใช่ฉายาที่เราตั้งให้เขาเอง ยังมีอีกหลายคนที่เปรียบเขาไว้เช่นนี้ เรื่องราวที่น่าประทับใจนอกจากอาเมียร์ คือเรื่องนี้อาเมียร์ขุนตัวเองให้อ้วนเพื่อให้ตัวเองรับบทคุณพ่อ อดีตนักมวยปล้ำได้ดีมาก จนทุกอย่างดูสมจริงเหมือนนั่งดูสารคดีย่อมๆเรื่องหนึ่ง ช่วงวัยหนุ่มก็มีลักษณะอีกแบบ แต่เมื่อต้องเป็นพ่อคนก็ลงพุงอ้วนเผละ เป็นการบอกว่ามหาเวียร์ ซิงค์ที่เขารับบทได้ปล่อยความฝันของตัวเองให้ล่องลอยไป เพราะต้องรับหน้าที่หัวหน้าครอบครัว
และเนื่องจากภาพยนตร์สร้างมาจากเหตุการณ์จริง ดังนั้นเราจะเห็นฉากในตำนาน ที่บางคนอาจจะเกิดไม่ทันหรือไม่ได้สนใจในขณะนั้น เช่น รางวัลเหรียญทองในเกม Commonwealth Games(กีฬาเครือจักรภพ) ปี 2010 เป็นการแข่งขันกีฬาที่จัดขึ้นในกลุ่มประเทศเครือจักรภพทุก 4 ปี ดูแลการจัดแข่งขันโดย สหพันธ์กีฬาเครือจักรภพ ซึ่งทำภาพออกมาได้สวยมากกกก!! ละมุนตามาก อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเองจริงๆแล้วไม่ชอบการดูกีฬาเท่าไหร่ เพราะดูไม่เป็น ไม่มีอารมณ์ร่วมกับการกีฬามาแต่ไหนแต่ไร แต่หนังเรื่องนี้ถ่ายทำฉากกีฬาออกมาได้สมจริงทุกฉาก สมจริงทุกวินาที โดยเฉพาะการเปิดโอลิมปิกปี 2010 ขนลุกมาก
หนังของอาเมียร์ ข่านไม่เคยปล่อยให้เราไม่ขบคิด เพราะแตะประเด็นทางสังคมได้อย่างนุ่มลึก มีชั้นเชิง อาทิ PK (2014) กับแนวคิดของศาสนาที่ครอบงำคนในสังคม / 3 Idiots (2009) แสดงให้ถึงผลกระทบและความคาดหวังที่มีต่อนักศึกษา และระบบการศึกษาของอินเดีย / Taare Zameen Par ( 2007 ) ภาพสะท้อนของเด็กที่มีภาวะดิสเล็กเซีย(dyslexic) ภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ในอินเดีย และ Lagaan(2001) ที่ได้รับการเสนอชื่อชิงออสการ์ในปีเดียวกัน กับการสะท้อนให้เห็นถึงการต่อสู้ เพื่ออิสรภาพของอินเดีย โดยมองผ่านสายตาของผู้เล่นคริกเก็ต
อย่างไรก็ตามหนามที่แหลมที่สุดของ Dangal นั้นมุ่งเป้าไปที่สถานะของผู้หญิงในชนบทอินเดีย รัฐบ้านเกิดของมหาเวียร์ คือรัฐหรยาณา ที่เป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นหนึ่งในรัฐที่ล้าหลังที่สุด ในแง่ของความเสมอภาคทางเพศ ด้วยข้อมูลทางสถิติที่ชี้ว่า อัตราการรู้หนังสือของผู้หญิงมีเพียง 60 เปอร์เซ็นต์ สำคัญมันสะท้อนสังคม วัฒนธรรม จารีตของคนอินเดียได้ดีมาก กับแนวคิดที่ว่า "ผู้หญิงเกิดมาเพื่อทำงานบ้าน มีสามี คลอดลูก เลี้ยงลูก ห้ามมีปากเสียง ห้ามเถียง" บริบทของคนในหมู่บ้านที่มองว่าเด็กผู้หญิงไม่ควรใส่กางเกง ตัดผมสั้น ควรสอนลูกทำงานบ้าน ความเชื่อต่างๆ มันดีมากๆ แล้วฉากที่มันควรจะพีค มันก็พีคขึ้นเรื่อยๆ จนตอนท้ายเรื่องถึงกับปล่อยโฮ ... แนะนำว่านี่เป็นหนึ่งในลิสต์ของหนังอินเดียดีๆ ที่ควรค่าแก่การรับชม เพราะคุณจะไม่เสียดายเวลาเลย