หมวดหมู่ :
หนังอาชญากรรม
,
หนังวิทยาศาสตร์ Sci-fi
,
หนังลึกลับซ่อนเงื่อน
เรื่องย่อ : Otherlife อะไรจริงอะไรไม่จริง (2017) บรรยายไทย
ชื่อภาพยนตร์ : Otherlife อะไรจริงอะไรไม่จริง
แนว/ประเภท : Crime, Mystery, Sci-Fi
ผู้กำกับภาพยนตร์ : Ben C. Lucas
บทภาพยนตร์ : Ben C. Lucas, Kelley Eskridge
นักแสดง : Jessica De Gouw, Liam Graham, Fiona Press
วันที่ออกฉาย : 15 October 2017
เล่าเรื่องของเรน น้องชายเธอจาเร็ดถูกหินกระแทกหัวตอนดำน้ำ ทำให้ตอนนี้สมองเขาตาย เรนพยายามช่วยจาเร็ดจากอาการดังกล่าว เธอคิดค้นซอฟต์แวร์ชีวภาพ (Biological Software)ขึ้นมา หวังว่าสิ่งนี้จะเปลี่ยนความทรงจำของจาเร็ด และช่วยให้เขาฟื้นขึ้นมาได้
ซอฟต์แวร์ชีวภาพ (Biological Software) ที่ว่านี้ เรนเขียนโปรแกรมขึ้นมาเอง พร้อมจดสิทธิบัตรเรียบร้อย เธอและแซมร่วมกันเปิดบริษัทขึ้นมาชื่อว่า Otherlife เพื่อเป็นเทรนด์ใหม่ในการใช้ชีวิตของมนุษย์ ซอฟต์แวร์ชีวภาพจะช่วยให้มนุษย์มีประสบการณ์และความทรงจำที่คิดว่าตัวเองไม่มีโอกาสที่จะได้รับ ว่าง่ายๆก็คือใครที่ใช้จะได้รับประสบการณ์ที่ยิ่งกว่า Virtual Realirty (VR) เพราะว่าจะได้ไปอยู่ในสถานการณ์นั้นๆเลย โดยเวลาใน Otherlife กับเวลาจริงของโลกจะต่างกัน Otherlife 1 ปี เท่ากับเวลาในโลกจริง 1 นาทีเท่านั้น
ด้วยเหตุนี้ แซมซึ่งน่าจะมีหัวทางด้านธุรกิจ เขาสนใจที่จะใช้ซอฟต์แวร์ชีวภาพในด้านอื่นมากกว่า เช่น ด้านกุมขังนักโทษในคุกเสมือน (virtual confinement) แต่เรนไม่เห็นด้วย แต่แล้วก็มีเหตุการณ์ที่ทำให้เรนต้องไปติดอยู่ในคุกเสมือนนั้น
IMDB : tt4693358
คะแนน : 6.3
รับชม : 1268 ครั้ง
เล่น : 288 ครั้ง
Otherlife (2017) | อะไรจริงอะไรไม่จริง
ถ้าคุณมีโอกาสจะได้อีกชีวิตหนึ่งที่ต่างออกไป คุณจะทำอะไร? ถ้ามันมีผลิตภัณฑ์ที่ช่วยให้คุณทำแบบนั้นได้ คุณจะยอมใช้มันหรือไม่?
OtherLife คือหนังไซไฟอินดี้ทุนต่ำของออสเตรเลีย (และฉายแบบมีซับไทยใน Netflix) ที่ผมค่อนข้างจะรู้สึก “โอเค” หากมองว่ามันเป็นหนังไซไฟระดับอินดี้ทุนต่ำมากๆ หรือเป็นไซไฟระดับซีรีส์ตอนสเปเชียลของ Black Mirror
ที่แน่ๆคือ หนังเรื่องนี้บ่งบอกว่า หนังไซไฟนั้นไม่จำเป็นต้องใช้ทุนหนาๆก็สามารถสร้างได้ ขอแค่เข้าใจว่าคอนเซ็ปท์ว่า “Science Fiction มันคืออะไร” ก็พอ ทำไมผมถึงได้พูดแบบนี้น่ะหรือ? เพราะผมเคยคุยกับนักทำหนังในไทยคนหนึ่งแล้วเขาพูดถึงหนังไซไฟราวกับว่าต้องมีทุนสูงถึงจะสร้างได้ ซึ่งจริงๆแล้วมันไม่ใช่เลย แต่ผมเข้าใจว่า หนังไซไฟทุนต่ำเน้นไอเดียนั้น มันจะขายยากกว่า ไม่ใช่แค่ตลาดในไทย แต่รวมถึงตลาดต่างประเทศด้วย และ OtherLife ก็คือหนึ่งในข้อพิสูจน์ดังกล่าว
หนังเรื่องนี้เป็นเรื่องของเรน อามาริ นักวิจัยสาวเจ้าอัจฉริยะที่ร่วมทุนกับเจ้าของกิจกรรมอย่างแซม พัฒนา “อาร์เตอร์ไลฟ์” เทคโนโลยีเวอร์ชวลเรียลิตี้ (VR) ในรูปแบบของนาโนแมชชีน ทำให้ผู้ใช้ (ซึ่งใช้ได้ด้วยการหยอดใส่ตาเหมือนยาหยอดตา) เข้าไปอยู่ในโลกเสมือนจริงแล้วรู้สึกเหมือนจริงแบบสุดๆ เป้าหมายที่ซ่อนเร้นของเรนคือการเอาเทคโนโลยีนี้ไปใช้รักษาน้องชายที่นอนเป็นผักบนเตียงเพราะอุบัติเหตุ ทว่าแซมกลับมีเป้าหมายที่ล้ำยิ่งกว่านั้น เขาตัดสินใจจะขายเทคโนโลยีนี้ให้กับทางรัฐบาลเพื่อเอาไปใช้กับนักโทษ โดยให้นักโทษรู้สึกเหมือนตัวเองถูกจำคุกเป็นปีๆได้ ทั้งที่เพิ่งจะผ่านไปแค่ไม่กี่นาทีหรือชั่วโมงเท่านั้น
ทว่าก่อนหน้าที่ “อาร์เตอร์ไลฟ์” จะออกขายอย่างเป็นทางการ กลับเกิดอุบัติเหตุขึ้นจนทำให้เรนต้องตกที่นั่งลำบากเสียได้!
สารภาพว่าผมไม่ได้สนใจหนังเรื่องนี้เลย จนกระทั่งเข้าไปอ่านบรรดารีวิวใน IMDB กับ Reddit แล้วเหมือนคนที่ได้ดูหลายคนจะชอบ ก็เลยตัดสินใจลองดู
ในความเห็นจากใจจริง ผมมองว่าหนังเรื่องนี้อยู่ในระดับ “น่าสนใจ” สำหรับหนังไซไฟอินดี้ที่ทุนต่ำโคตรๆ ผมเห็นด้วยกับใครก็ตามที่บอกว่าเหมือนซีรีส์ Black Mirror เพราะมันมีส่วนที่คล้ายตอนๆหนึ่งของซีรีส์นั่น (Black Mirror ก็หาดูได้ใน Netflix ตอนที่คล้ายๆกับ OtherLife คือ White Christmas) ซึ่งความเหมือนนี้ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายแต่ประการใด ในมุมของ “คนเล่าเรื่อง” ผมบอกได้ว่าไม่มีไอเดียไหนที่ออริจินัลจริงๆหรอก ส่วนใหญ่ความคิดสร้างสรรค์ล้วนเกิดจากการต่อยอดจากของเก่าแล้วดัดแปลงเปลี่ยนแปลงจนกระทั่งเป็นตัวของตัวเอง
ดังนั้น แม้ไอเดียเรื่องเวอร์ชวลเรียลิตี้กับจิตของคนจะซ้ำกับหนังไซไฟหลายๆเรื่อง อย่างเช่น Inception หรือแม้กระทั่ง Black Mirror ตอน White Chistmas มันก็ไม่ใช่ปัญหาสำหรับผมแต่อย่างใด ตรงกันข้าม ผมกลับชื่นชมในตัวผู้กำกับเบน ซี ลูคัส ที่พยายามจะสร้างพล็อตออกมาให้สนุกและไม่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนจนคนดูต้องมึนหัว ผมรับประกันได้ว่า คนดูส่วนใหญ่จะไม่มีปัญหาอะไรกับการตามเนื้อหาเรื่องราว (หากตั้งใจดูจริงๆ ไม่ใช่ดูแล้วลุกไปหาของกินแล้วเดินกลับมา หรือดูไปเล่นมือถือไป) มันมีองค์ประกอบของหนังระทึกขวัญที่ค่อนข้างจะน่าสนใจ
อย่างที่ผมบอกตอนต้นๆ OtherLife เป็นการตอกย้ำว่า การทำหนังไซไฟสักเรื่อง ไม่จำเป็นต้องอาศัยทุนสร้างมหาศาล เพียงแต่การจะทำหนังไซไฟทุนต่ำนั้นจำเป็นต้อง “เน้นไอเดีย” และมันจะเข้าท่ากว่าถ้า “ไอเดียนั้นเกิดมาจากความเข้าใจในหลักวิทยาศาสตร์” ดูเหมือนหนังเรื่องนี้จะอ้างอิงจากนิยายเรื่อง Solitaire ของ เคลลี่ เอสคริดจ์ ซึ่งก็มีชื่อเป็นผู้ร่วมเขียนบทหนังเรื่องนี้ด้วยเหมือนกัน ถึงอย่างนั้นพล็อตของนิยายกับหนังแทบจะไม่คล้ายกันเลย แค่มีบางส่วนที่อ้างอิงถึงกัน… ซึ่งผมไม่อยากสปอยล์อะไรมาก เลยไม่ขอเอ่ยถึงจะดีกว่า
ผมไม่ได้อ่านตัวนิยาย แต่ดูจากหนังก็บอกได้ว่า คนสร้างพยายามเอาข้อมูลด้านสมองที่มีอยู่ในตอนนี้มาต่อยอดให้กับเรื่องราวได้อย่างสร้างสรรค์ ผมดีใจที่หนังเรื่องนี้มีการเอ่ยถึง “ความเชื่อเรื่องสมองใช้แค่ 10%” ในทางที่ถูกต้องกว่าหลายๆเรื่อง โดยบอกว่า สมองเหมือนจะใช้ความสามารถแค่นั้นก็จริง แต่จริงๆแล้วมันจะกระจายการทำงานโดยเอาไปใช้ในส่วนอื่นๆอย่างทั่วถึง ซึ่งก็ใกล้เคียง เพราะสมองเราทำงาน 100% อยู่ตลอดเวลายกเว้นเวลานอน (ซึ่งจะปิดการทำงานของบางส่วนลงเพื่อประหยัดพลังงาน) ฉะนั้นพอกันซะที ไอ้ความเชื่อเรื่องสมองใช้แค่ 10% หรือไม่ได้ใช้สมองเลยน่ะ เลิกบ้ากันได้แล้ว!!
และนางเอกก็พูดถูกเรื่องที่สมองเราแยกไม่ออกว่าอะไรจริงอะไรไม่จริง จะอยู่ในโลกความจริงหรือโลกเสมือนก็ทำงานไม่ต่างกัน แปลว่า ในความเป็นจริงแล้ว เวลาคุณนั่งดูหนังสยองขวัญหนึ่งเรื่อง การทำงานของสมองจะไม่ต่างอะไรกับตอนที่คุณไปเจองูเห่าขู่ฟ่อๆอยู่ตรงหน้าเท่าไหร่ แปลว่า เวลาเล่นเกมแล้วรู้สึกถึงชัยชนะ มันไม่ต่างอะไรกับความรู้สึกชัยชนะที่ได้จากการเล่นกีฬาจริงๆเสียเท่าไหร่
ประเด็นนี้จึงกลายเป็นที่มาของเป้าหมายที่นางเอกพยายามจะใช้รักษาน้องชาย และกลายเป็นจุดหักมุมสำคัญที่จะพาไปสู่เนื้อหาความขัดแย้งในองค์ที่สอง
ผมดีใจที่ผู้กำกับฉลาดพอจะไม่เลือกใช้ “วิธีสิ้นคิด” เพราะผมกลัวเหลือเกินเวลาที่หนังจะทำให้ตัวเอง “ดูฉลาด” ด้วยการทำอะไรให้ซับซ้อนเกินเหตุ แล้วทุกอย่างก็จบลงด้วยการหักมุมแบบเห่ยๆ แต่มันไม่ใช่ ตอนจบของหนังเรื่องนี้ไม่มีการหักมุมแบบเห่ยๆ …เฮ้อ โล่งอกหน่อย…
อย่างไรก็ตาม ข้อเสียสำคัญสำหรับผมมีอยู่สามข้อ
1) มันเดาง่ายในบางช่วง: เมื่อองค์ที่สองมาถึง ผมก็เดาได้แล้วว่ามันเกิดอะไรขึ้น ซึ่งมันก็ดันกลายมาเป็นความจริงเสียด้วย แต่อย่างที่บอกไปแล้ว ผู้กำกับสามารถทำให้ “เรื่องที่ผมเดาได้” กลายเป็นจุดหักมุมสำคัญของเรื่องได้ แต่เคราะห์ดีที่ตรงส่วนนี้จบลงแค่องค์ที่สอง ส่วนองค์ที่สามเลือกไปเล่นความขัดแย้งในอีกรูปแบบหนึ่ง ทำให้ตรงนี้ไม่ใช่ปัญหาใหญ่โตอะไรมาก แค่… รู้สึกเสียดายที่ “มันเดาได้”
2) ไม่มีตัวละครที่น่าสนใจเลย: เรน อามาริแสดงโดย เจสสิก้า ดี โกว์ (ไม่รู้สะกดถูกหรือเปล่า) ซึ่งมีเครดิตแสดงเป็น “เดอะ ฮันเทรส” ในซีรีส์ Arrow ดังนั้นจึงถือว่าเป็นดารามีชื่อเพียงคนเดียวของทั้งหมด เรนเป็นตัวละครหลักที่… ดูดีสุดในเรื่อง แต่ไม่มีอะไรน่าสนใจ เธอเหมือนกับค็อบบ์ใน Inception ที่เป็นพวกอัจฉริยะและกำลังเล่นตลกกับจิตของมนุษย์กับเทคโนโลยี อีกทั้งยังหมกมุ่นกับเป้าหมายจนพร้อมจะพาตัวเองไปสู่ขอบเขตที่อันตราย ฉากที่เธอไปหาพ่อของเธอซึ่งดูเหมือนจะเป็นอาจารย์สอนเรื่องสมอง ทำให้ผมนึกถึงฉากที่ค็อบบ์ไปหาพ่อตาใน Inception พิลึก… คือไม่ได้แย่อะไร แต่ไม่ได้มีอะไรแปลกใหม่ ส่วนตัวละครตัวอื่นๆ… ผมรู้สึกว่าไม่มีใครให้ผมต้องจดจำเลยจริงๆ รู้แค่ว่า อ้อ ไอ้นั่นเพื่อนร่วมงาน ไอ้นู่นแฟนหนุ่ม อะไรทำนองนั้น
3) ด้วยความเป็นหนังอินดี้ จึงเล่นอะไรมากไม่ได้ เลยทำให้พล็อตหรือบทสนทนาบางช่วงดูยืดยาดเกินความจำเป็น และรู้สึกว่ามันไม่ได้น่าสนใจอะไรเป็นพิเศษจนผมแทบไม่ได้ใส่ใจ จำไม่ได้ด้วยซ้ำว่ามันพูดอะไรกัน
อย่างไรก็ตาม พอดูจบแล้วผมพอจะเข้าใจว่าทำไมคนในบอร์ด IMDB กับ Reddit ถึงได้วิจารณ์เรื่องนี้ในแง่มุมบวก เพราะหากมองในแง่ของความเป็นหนังอินดี้ หรือหนังที่ให้อารมณ์ประมาณซีรีส์แบบ Black Mirror มันก็ถือว่าโอเคไม่น้อย
OtherLife เปิดตัวครั้งแรกในงานเทศกาลหนังซิดนีย์เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน ค.ศ. 2017 ผมไม่รู้ว่ามันได้ฉายแม้กระทั่งโรงหนังอาร์ตเฮาส์หรือเปล่า แต่สุดท้ายมันก็ได้มาอยู่ใน Netflix (และไม่รู้ว่าจะหายไปเมื่อไหร่) ด้วยความที่หนังเรื่องนี้ไม่ได้เลวร้ายอะไร ผมจึงอดรู้สึกเสียดายไม่ได้ว่า หากมันเป็นหนึ่งในตอนของซีรีส์ Black Mirror จริงๆ มันอาจจะมีการพูดถึงในวงกว้างมากกว่านี้ แถมระยะเวลาการฉายที่สั้นกว่าความยาวหนังทั่วไปตามประสาซีรีส์ อาจทำให้จังหวะการเล่าเรื่องของหนังเรื่องนี้กระฉับกว่าที่เป็นอยู่ด้วยซ้ำ
ดังนั้นถ้าใครอ่านแล้วรู้สึกสนใจ หรือชอบแนวไซไฟ ผมก็แนะนำให้ลองดูกันครับ ถ้าดูแบบไม่คาดหวังอะไรมาก บางทีอาจจะชอบก็ได้