หมวดหมู่ :
หนังแอคชั่น
,
หนังผจญภัย
,
หนังดราม่า
เรื่องย่อ : The Promise สัญญารัก สมรภูมิรบ (2016)
ชื่อภาพยนตร์ : The Promise สัญญารัก สมรภูมิรบ
แนว/ประเภท : Action, Adventure, Drama
ผู้กำกับภาพยนตร์ : Terry George
บทภาพยนตร์ : Terry George, Robin Swicord
นักแสดง : Oscar Isaac, Charlotte Le Bon, Christian Bale
วันที่ออกฉาย : 6 October 2017
เรื่องราวความรักสามเส้าในช่วงวันสุดท้ายของจักรวรรดิออตโตมันในปี 1914 ระหว่าง มิคาเอล (ออสการ์ ไอแซค) นักเรียนแพทย์ อันนา (ชาร์ล็อตต์ เลอบง) ศิลปินชาวอาร์เมเนีย และ คริส (คริสเตียน เบล) ช่างภาพหนังสือพิมพ์ ท่ามกลางเหตุการณ์เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอาร์เมเนียที่พวกเขาต้องเอาชีวิตให้รอด
IMDB : tt4776998
คะแนน : 5.9
รับชม : 809 ครั้ง
เล่น : 112 ครั้ง
The Promise (2016) สัญญารัก สมรภูมิรบ
หนังเอพิกดราม่าอิงประวัติศาสตร์ ที่มีเรื่องราวแบบโรแมนติกดราม่ารักสามเส้าเป็นตัวขับเรื่อง แม้เราจะไม่ได้ซาบซึ้งกับความสัมพันธ์ที่เล่าย่นย่อเหลือเกินของทั้งสามคน แต่ถ้ามองลงไปถึงกระดูกของหนังแล้วมันคือบันทึกโศกนาฏกรรมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่โคตรสะเทือน!
ดูชื่อทีมงานมันก็ไม่น่าจะเงียบได้ขนาดนี้นะ
เชื่อว่าหลายคนอาจมองข้ามหนังเรื่องนี้ไปแน่ ๆ เพราะผมเองตอนแรกก็ยังไม่สู้จะสนใจมันนักเลย ด้วยหน้าหนังที่เปิดโผมาแบบหนังดราม่าโรแมนซ์ที่มีพื้นหลังเป็นประวัติศาสตร์หน้าสำคัญ ซึ่งเป็นหนังที่เลี่ยงมาตลอดด้วยส่วนใหญ่จะมีความยาวแบบยาวโคตร ๆ พลอตดราม่าฟูมฟายดูผู้ใหญ่มาก ๆ เหมือนไม่มุ่งเน้นความบันเทิงแต่มุ่งตรงไปยังเวทีรางวัลเป็นสำคัญ แต่เดี๋ยวก่อนเรื่องนี้มันก็เป็นอย่างนั้นล่ะ แต่มันมีความสำคัญบางอย่างที่เราควรดูครับ
หนังเป็นผลงานการกำกับและเขียนบท หลังจากห่างหายไปนานของผู้เข้าชิงออสการ์ เทอร์รี่ จอร์จ ที่เคยมีงานอย่าง Hotel Rwanda (2004) ซึ่งหลังจากได้รางวัลออสการ์สาขาหนังสั้นเมื่อปี 2012 จากเรื่อง The Shore (2011) แกก็แทบจะหายหน้าไปเลย ซึ่งเชื่อว่าคงฟูมฟักโปรเจ็กต์นี้อยู่ครับ นอกจากผู้กำกับที่เชี่ยวในงานดราม่าประวัติศาสตร์แล้ว มือเขียนบทร่วมอย่าง โรบิน สวิกอร์ด ก็เป็นอีกหนึ่งชื่อระดับแม่เหล็กที่สำคัญ งานเก่าของเธอนั้นก็แสดงศักยภาพในหนังแนวนี้มาก ๆ ครับอย่าง The Curious Case of Benjamin Button (2008) ของ เดวิด ฟินเชอร์ ซึ่งได้เข้าชิงออสการ์สาขาบทดัดแปลงปีนั้นด้วย
แล้วลงลึกไปดูทีมงานด้านอื่นคือต้องร้อง โห! ออกมาเลยครับ ดรีมทีมมาก ตั้งแต่ผู้ประพันธ์เพลง กาเบรียล ยาเร็ด (เจ้าของออสการ์จาก The English Patient (1996) ผู้กำกับภาพ ฮาเวียร์ อากิเรซาโรเบ (เข้าชิงรางวัล BAFTA จาก The Road (2009) มือตัดต่อ สตีเว่น โรเซนบลูม (เข้าชิงออสการ์จาก Braveheart (1995) และกำกับศิลป์ เบนจามิน เฟอร์นานเดซ (Gladiator (2000)
เมื่อทีมเบื้องหลังแข็งปั๋งอย่างนี้ ทีมดาราเบอร์ใหญ่ที่รับประกันคุณภาพเลยไม่ลังเลมาร่วมงานทั้ง นักแสดงนำชายออสการ์ คริสเตียน เบล,พ่อหนุ่มยานเอ็กซ์วิงของสตาร์วอร์สไตรภาคล่าสุด ออสการ์ ไอแซค และดาราสาวหน้าหวานลูกครึ่งฝรั่งเศส-แคนาดาที่ผ่านงานหนังใหญ่มาอย่างโชกโชน ชาร์ล็อตต์ เลอบง ทั้งสามคนนี้มาเป็นสามเสาหลักของรักสามเส้าในเรื่อง ก็เพิ่มความน่าสนใจให้หนังแบบแรง ๆ เลยครับ นี่ยังไม่นับดาราสมทบที่คับคั่งคุณภาพทั้งนั้น อย่าง ฌ็อง เรโน (Léon: The Professional), ทอม ฮอลแลนด์เดอร์ (About Time), ดาเนี่ยล กิเมเนซ กาโช (Bad Education), โชห์เรห์ อัคแดชลู (House of Sand and Fog), เจมส์ ครอมเวลล์ (The Artist), แองเจลา ซาราเฟียน (Westworld) เป็นอาทิ ด้วยนะ หนังถ่ายทำกันแบบยาว 72 วัน 20 โลเกชั่น 4 ประเทศ ดูมาถึงตรงนี้ต้องบอกเลยว่ามันเป็นหนังฟอร์มใหญ่มาก ๆ คือรายชื่อ และโปรดักชั่นระดับนี้หนังไม่น่าเงียบได้เลยครับ ซึ่งสาเหตุนั้นจะเล่าในช่วงหลังว่าทำไมมันเงี๊ยบเงียบได้ขนาดนี้
ดราม่าระดับโลกกับสงครามโหวตดิสเครดิต
หนังเล่าถึงเรื่องราวโศกนาฏกรรมรักสามเส้าเราสามคนท่ามกลางสงครามอย่างที่หนังแนวนี้ชอบทำ โดยมองผ่านนักข่าวอเมริกันอย่าง คริส มายเยอร์ส (เบล) ที่เป็นประจักษ์พยานสงครามแทนผู้ชม และได้ไปเกี่ยวข้องกับ อานา (เลอบง) หญิงสาวเลอโฉมชาวอาร์เมเนียนซึ่งเป็นคู่รักของมายเยอร์ส และนักเรียนแพทย์หนุ่มอย่าง มิคาเอล (ไอแซค) ที่ดั้นด้นจากบ้านนอกมาสู่เมืองหลวงและตกหลุมรักอานาแม้เขาจะมีคู่หมั้นหมายที่บ้านเกิดอยุ่แล้วก็ตาม จึงนำมาสู่เรื่องราวความรัก คำสัญญา และการพลัดพราก วนเวียนให้ผู้ชมสะเทือนหัวใจครับ
หน้าหนังดูไม่มีอะไรใหม่ แต่ความพิเศษของมันคือสงครามที่เป็นพื้นหลังนี่ล่ะครับ เพราะมันน่าจะเป็นครั้งแรกของโลกภาพยนตร์เลยที่วงการหนังยักษ์ใหญ่อย่าง ฮอลลีวูด หยิบเอาเหตุการณ์ก่อนล่มสลายของอาณาจักรอิสลามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกยุคหนึ่งอย่าง จักรวรรดิ์ออตโตมัน ซึ่งนำมาสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอาร์เมเนียน อัสซีเรียและกรีกพอนทัสที่นับถือคริสต์ตั้งแต่ปี 1915 จนช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 มีคนตายไปกว่า 1.5 ล้านคน มาออกฉายสู่วงกว้าง ซึ่งก่อนหน้านี้จะมีก็แต่หนังฝั่งยุโรป หรือหนังอินดี้เล็ก ๆ เท่านั้นล่ะครับ
ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะรัฐบาลตุรกีปัจจุบันต้องการปกปิดประวัติศาสตร์เลือดนี้มาตลอด โดยมักพูดว่าชาวอาร์เมเนียนไม่ได้ตายถึงราว 1.5 ล้านคนอย่างที่พูดกัน และการตายจำนวนมากก็มาจากภาวะสงครามโลกมากกว่า แม้แต่รัฐโลกเสรีอย่างอเมริกาเองก็งดใช้คำว่า genocide ที่แปลว่าฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เพราะต้องการรักษาความสัมพันธ์อันดีกับตุรกีเอาไว้ มีการล็อบบี้กันตั้งแต่ระดับนักการเมืองจนไปถึงสื่อมวลชนเลยทีเดียว เพิ่งมีการใช้คำนี้อธิบายเหตุการณ์ไม่นานนี้เอง ซึ่งเรื่องการใช้คำว่าฆ่าล้างเผ่าพันธุ์นี่ตุรกีซีเรียสสุด ๆ เลยครับถึงขนาดเคยเรียกทูตกลับจากสวิตเซอร์แลนด์และฝรั่งเศสเพราะเหตุนี้มาแล้ว และล่าสุดเมื่อปี 2015 ในวาระครบรอบ 100 ปีเหตุการณ์นี้ ตุรกีก็เคยเรียกทูตจากวาติกันกลับเช่นกัน หลังสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสมีสุนทรพจน์ตอนหนึ่งว่า เหตุการณ์ปี 1915 นับเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครั้งแรกของศตวรรษที่ 20 เลยทีเดียว
อย่าคิดว่าการเมืองไม่เกี่ยวกับหนังล่ะครับ เพราะตอนที่หนังเรื่องนี้เข้าฉายโชว์ตามเทศกาลในช่วงปลายปี 2016 ซึ่งมีผู้ชมแค่หลักหลายร้อย คะแนนให้ดาวในเว็บอย่าง imdb.com โดนกลุ่มเกรียนจากตุรกีถล่มให้ 1 ดาวกันไปกว่า 5 หมื่นครั้งเข้าไปแล้ว ทั้ง ๆ ที่หนังเพิ่งฉายโชว์จบด้วยซ้ำ และถ้าจะมองย้อนไปก่อนหน้านั้นก็คงเป็นความพยายามที่จะล้มโครงการหนังที่ต้องย้อนไปถึงช่วงต้นทศวรรษที่ 80 เลยทีเดียว ตอนนั้น เคิร์ก เคอร์โคเรียน เศรษฐีชาวอาร์เมเนียนที่ไปร่ำรวยอยู่ในสหรัฐอเมริกาได้เข้าซื้อสตูดิโอ MGM และพยายามที่จะดันโปรเจ็กต์นี้ แต่ก็ไม่สำเร็จเพราะแรงกดดันจากตุรกีต่อรัฐบาลสหรัฐนั่นเอง นี่ขนาดเป็นเจ้าของสตูดิโอแล้วนะ! น่าเสียดายครับแม้ในภายหลังแกจะดันหนังจนออกมายิ่งใหญ่มาก ๆ แต่แกก็ดันมาเสียไปก่อนในปี 2015 โดยยังไม่น่าจะได้ดูฉบับสมบูรณ์
รีวิวแบบจริงจัง ไม่อิงกระแส
ถ้าจะวัดความดีงามหนังเรื่องนี้คงพูดได้แต่ว่า อย่าไปเชื่อคะแนนในเว็บวิจารณ์นักครับ เพราะตอนนี้เป็นสงครามโหวตดิสเครดิตกันไปมากกว่าแล้ว พูดกันแบบจริงใจเลยคือ หนังนั้นมีโปรดักชั่นและทีมงานชั้นดีเลิศ ฉากหลังทิวทัศน์สถาปัตยกรรมแบบออตโตมันที่แปลกตาโดดเด่นมาก เสื้อผ้าหน้าผมคือสมจริง การแสดงอยู่ในระดับที่ตามมาตรฐานนักแสดงมีฝีมือ เรียกว่าดูเพลินครับหนังสองชั่วโมงกว่าแต่ก็ไม่ได้น่าง่วงอะไรขนาดหนักนัก เพราะโปรดักชั่นเอาอยู่จริง ๆ
ข้อเสีย แต่อาจจัดว่าเป็นวัตถุประสงค์ของหนังคือ พาร์ทในเรื่องความรักนั้นไม่เด่น หรือเรียกว่าด้อยกว่าหนังในตระกูลนี้เรื่องอื่นเลยก็ว่าได้ คือไม่มีน้ำหนักในหัวใจผู้ชมมากเท่าเรื่องราวส่วนที่เล่าถึงโศกนาฏกรรมของชาวอาร์เมเนียนที่ถูกฆ่าอย่างโหดร้าย ซึ่งจะบอกว่าโคตรสะเทือนครับ ไม่น่าเชื่อว่าอะไรแบบนี้ถูกตุรกีปิดบังไว้ได้เป็นศตวรรษ ใครมุ่งจะไปดูดราม่าความรักสามเส้าน่าจะสมใจส่วนหนึ่ง คงไม่ได้ประทับใจตราตรึง แต่ถึงกระนั้นคุณก็จะไม่ได้เดินออกจากโรงด้วยความผิดหวังอีกเช่นกันครับ