หมวดหมู่ : หนังดราม่า
เรื่องย่อ : ดูหนัง A Beautiful Mind (2001) ผู้ชายหลายมิติ เต็มเรื่อง
มนุษย์ที่ดูยิ่งใหญ่ทางความคิดและเหตุผล แต่เปราะบางทางอารมณ์และความรู้สึกยิ่งนัก สามารถแก้สมการคณิตศาสตร์อันซับซ้อนได้ แต่แก้สมการชีวิตของตนเองไม่ได้ ข้อสรุปอันเป็นที่สุดของเรื่องอยู่ที่ฉากสุดท้าย ในคำกล่าวสั้นๆ แต่กินใจอย่างยิ่งของจอห์น แนช (รัสเซล โครว์)จากเวทีที่เขาขึ้นไปรับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์เมื่อปี 1994
IMDB : tt0268978
คะแนน : 8.2
รับชม : 2136 ครั้ง
เล่น : 765 ครั้ง
หนังเรื่องนี้ดัดแปลงจากชีวิตจริงของศาสตราจารย์ จอห์น แนช อัจฉริยะทางคณิตศาสตร์ชาวอเมริกันซึ่งมีปัญหาทางจิตตั้งแต่เรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยปรินซตัน แต่เพราะเขาเป็นอัจฉริยะ แม้จะมีพฤติกรรมแปลกๆ ใครๆ ก็นึกว่า นั่นคือลักษณะพิเศษของอัจฉริยะ ไม่ได้คิดว่านั่นคือโรคจิตเสื่อมที่กำลังคุกคาม
จอห์น แนช คงเป็นเด็กฉลาดมากกว่าเด็กทั่วไปจึงสามารถสอบชิงทุนเข้าเรียนที่ปรินซ์ตันได้ แต่เขาคงมีปัญหาบางอย่างตั้งแต่วัยเด็ก มีปัญหาในการสัมพันธ์กับคนอื่น เขาเล่าให้เพื่อนฟังว่า “ครูบอกว่า ผมมีสมองโตกว่าคนอื่นสองเท่า แต่มีหัวใจแค่ครึ่งเดียว”
เขาพูดเองว่า “ผมไม่ค่อยชอบคนอื่น และคนอื่นก็คงไม่ชอบผมเหมือนกัน” เขามี IQ ระดับอัจฉริยะ แต่ EQ ระดับบกพร่องถึงขั้นผิดปกติอันเนื่องเพราะเขามีปัญหาทางจิตนั่นเอง
โรคจิตเสื่อม (schyzophrenia) มีอาการหลายอย่าง อย่างหนึ่งที่เป็นกันมาก คือ การเห็นภาพหลอน รวมทั้งการคิดเอาเองว่ามีคนตามฆ่าตามทำร้าย เห็นอะไรเห็นใครก็ระแวงไปหมด (paranoid) คนที่มีปัญหาทางจิตแบบนี้จึงมักเก็บเนื้อเก็บตัว ไม่คบหาสมาคมกับใคร อยู่ในโลกของตัวเองที่เชื่อว่าเป็นจริง
ภาษาของหนังเป็นอีกภาษาหนึ่งที่พยายามนำเอาภาพหลอนและอาการทางจิตของอัจฉริยะผู้นี้ออกมาเป็นเรื่องราวที่ดูตื่นเต้นชวนติดตามจนคนดูตอนแรกๆ เชื่อสนิทว่านั่นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงๆ ใครจะไปคิดว่า เพื่อนร่วมห้องของเขาที่มหาวิทยาลัยที่แท้ก็เป็นภาพหลอน ซึ่งจะหลอกหลอนเขาไปจนหนังจบ ไม่ทราบว่า วันนี้ปีนี้มันยังมาหลอนอยู่อีกหรือเปล่า
เขาต้องพูดคุยโต้ตอบกับบุคคลในภาพหลอนเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมห้องและหลานของเขาและสายลับที่นำเขาเข้าไปรับงานราชการลับด้านความมั่นคง จนกระทั่งเมื่อเขาได้รับการเยียวยารักษา อาการก็เริ่มดีขึ้นเป็นลำดับ ภาพเหล่านี้ก็ค่อยๆ หายไป แต่ก็กลับมาอีกเมื่อเขาเลิกกินยา และเกิดความเครียด
เขาเอาชนะได้จริงๆ ไม่ใช่เมื่อเขากำจัดภาพนั้นให้หมดไป แต่ปล่อยให้มันอยู่หรืออยู่ร่วมกับมันโดยไม่พูดคุยหรือแยแสกับบุคคลอันเป็นภาพหลอนเหล่านั้นอีกต่อไป ไม่ว่ามันจะติดตามเขาไปถึงไหน เขาสรุปได้น่าฟังว่า ภาพหลอนเหล่านั้นก็เหมือนความคิดมากมายในตัวเราที่เราเลือกได้ว่าจะสนใจกับความคิดไหน อันไหนที่มารบกวนและสร้างปัญหาก็ไม่ต้องไปสนใจมัน ก็แค่นั้นเอง
แต่กว่าจะถึงขั้นนั้นได้ชีวิตก็เกือบจะอับปางหรือแทบจะต้องไปจบในโรงพยาบาลบ้าตลอดชีวิต โชคดีที่เขากลับมาได้ แม้จะไม่สมบูรณ์เหมือนเดิม หนังพยายามบอกว่า คนคนหนึ่งที่ช่วยให้เขากลับมาเหมือนเดิมได้ คือภรรยาของเขาเอง
อลิเชีย (เจนนิเฟอร์ คอนเนลลี) เป็นลูกศิษย์ของศาสตราจารย์แนช ฉากแรกก็แสดงให้เห็นความแตกต่างของการแก้ปัญหา พออาจารย์เดินเข้าไปในห้องก็ได้ยินเสียงคนงานกำลังเจาะถนนข้างล่าง ดังหนวกหูมาก เขาเดินไปปิดหน้าต่าง นักศึกษาคนหนึ่งขอร้องว่า เปิดสักบานจะได้ไหมครับอาจารย์ อากาศร้อนมาก เขาตอบว่า ร้อนยังดีกว่าฟังเขาไม่ได้ยิน
ครู่เดียว อลิเชียลุกขึ้นเดินไปที่หน้าต่าง เปิดออกแล้วตะโกนลงไปข้างล่าง พูดดีๆ ขอร้องให้คนงานหยุดทำงานที่นั่นสัก 45 นาที คนงานก็ยอมหยุด หนังทำให้เห็นตั้งแต่ต้นว่า ผู้หญิงคนนี้สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ที่อัจฉริยะอย่างจอห์น แนช แก้ไม่ได้ บางอย่างไม่จำเป็นต้องใช้สติปัญญาอะไร ต้องการเพียงสามัญสำนึกเท่านั้น
อลิเชียอาจจะไม่ได้เก่งกาจในเรื่องคณิตศาสตร์เหมือนจอห์น แนช แต่เธอก็สามารถสื่อสารเป็น “สมการ” ใน “ภาษา” หรือตรรกะของสามีของเธอได้ตั้งแต่เริ่มคบหากันและรักกันใหม่ๆ อย่างเมื่อเขาขอเธอแต่งงาน เธอก็ตั้งโจทย์ถามด้วยภาษาคณิตศาสตร์ เพราะดูเหมือนว่าเขาไม่มีอะไรอื่นในหัวสมอง ในหัวใจและวิญญาณทั้งหมดนอกจากคณิตศาสตร์ โจทย์ สมการ ตัวเลข รหัส
เขาออกเดตกับเธอโดยไปงานเลี้ยงด้วยกัน แต่ก็ไปแบบคนที่ไม่มีความเชื่อมั่นในตัวเองเลย เธอต้องคอยเป็น “พี่เลี้ยง” และเมื่อออกไปข้างนอก เขาก็ชวนเธอดูท้องฟ้า ดูดาวต่างๆ ที่เขามีความถนัด ซึ่งเป็นฉากที่สวยงามที่สุดฉากหนึ่งในหนังเรื่องนี้ เขากับเธอ ฟ้ากว้างและดวงดาว
ชีวิตจริงของทั้งคู่ก็ไม่ได้สวยงามเหมือนดวงดาวสุกสกาวบนท้องฟ้าคืนวันนั้น แต่เต็มไปด้วยความเจ็บปวดทุกข์ทรมานอันเนื่องมาจากโรคจิตเสื่อมของเขา อาการของเขาย่ำแย่จนกระทั่งถึงจุดที่ถูกจับส่งโรงพยาบาลบ้า
ปัญหาของจอห์น แนช ที่เห็นในหนัง คือ เขาพยายามหาเหตุผลของทุกอย่าง และพยายามแก้สมการชีวิตตามแบบถนัดของเขาตลอดเวลา เขาเลิกกินยาเพราะกินแล้วช่วยเมียเลี้ยงลูกไม่ได้ ทำงานอะไรก็ไม่ได้ นอนกับเมียก็ไม่ได้เพราะหมดความรู้สึก แล้วมันดีกว่าเป็นบ้าตรงไหน
พอเลิกกินยา อาการเขาก็กลับไปอย่างเก่าอีก และเกือบจะทำให้ลูกจมน้ำในอ่างอาบน้ำ เพราะเห็นภาพหลอนของเพื่อนที่บอกว่าจะช่วยดูแลลูกให้ แล้วภาพหลอนก็มาสั่งให้เขาจัดการเมียตัวเอง จนเกือบจะเกิดโศกนาฏกรรม แต่เขาก็ยัง “ได้สติ” ชั่วขณะ เมื่อคิดได้ว่า ทำไมมาร์ซี เด็กหญิงหลานของเพื่อนจึงยังเป็นเด็กเล็กเท่าเดิมทั้งๆ ที่เขาเห็นเธอมาหลายปีแล้ว เขาถึง “ได้สติ” และเชื่อว่าที่ตนเองเห็นนั้นเป็นภาพหลอนจริงๆ
จิตแพทย์บอกว่า สิ่งที่เจ็บปวดและยากลำบากที่สุดสำหรับผู้ป่วยโรคจิตเสื่อมประเภทนี้ คือการที่ต้องยอมรับว่า สิ่งที่พวกเขาเห็นนั้นไม่มีจริงและไม่เคยมีอยู่
เมื่อเริ่มจับประเด็นได้ จอห์น แนช ยืนยันอย่างหนักแน่นว่า เขาจะต้องแก้ปัญหาของตนเองได้อย่างแน่นอน เพียงแต่ต้องการเวลาเท่านั้น
ฉากประทับใจที่สุดของหนังเรื่องนี้อยู่ในช่วงนี้ที่ภรรยาของเขาตัดสินใจที่จะช่วยเขาให้ถึงที่สุด โดยร่วมมือกับหมอ พยายามหา “หลักฐาน” มายืนยันให้ได้ว่า ภาพทั้งหมดที่เขาเห็นล้วนเป็นภาพหลอน และที่สำคัญ เธอจะต้องเข้าใจเขาให้มากขึ้น หนังบอกเรื่องนี้อย่างนุ่มนวลและเป็นมนุษย์อย่างยิ่ง
เขานั่งอยู่บนเตียง เธอยืนอยู่ที่ประตูแล้วค่อยๆ เดินเข้าไปหา เธอถามเขาว่า อยากรู้ไหมว่าอะไรจริง (What is real?) พลางคุกเข่าลง เอามือขวาจับที่แก้มของเขา เอามือซ้ายของตนเองจับมือขวาของเขามาแนบที่แก้มของเธอ ลดมือของเธอลงมาที่หน้าอกของเขา ตรงหัวใจ และจับมือของเขาลงมาไว้ที่หน้าอกตรงหัวใจของเธอพร้อมกับพูดว่า “นี่ไงที่เป็นจริง”
แล้วเธอก็บอกต่อไปว่า “บางทีส่วนที่สั่งให้คุณตื่นจากความฝันมันอาจไม่ได้อยู่ที่นี่ (พลางจับที่ศีรษะ) แต่อยู่ที่นี่ (จับที่หน้าอก) ฉันต้องเชื่อว่าปาฏิหาริย์เกิดขึ้นได้”
ความพยายามของทั้งสอง รวมทั้งความช่วยเหลือจากเพื่อนเก่า ที่เป็นทั้งเพื่อนและคู่แข่ง ซึ่งกลายเป็นศาสตราจารย์ที่ปรินซ์ตัน ทำให้เขาได้กลับไปช่วยสอนที่นั่น และค่อยๆ คืนสภาพปกติ แม้ว่าจะยังเห็นภาพหลอนอยู่เป็นครั้งคราว แต่เขาก็ไม่ใส่ใจกับมันอีกต่อไป
เขาได้รับการยอมรับที่ปรินซ์ตันจากคณาจารย์ และได้รับรางวัลโนเบลจากทฤษฎีสมดุลระบบ (governing dynamics) ซึ่งเขาพัฒนาขึ้นมาตั้งแต่เป็นนักศึกษาที่ปรินซ์ตัน
ทฤษฎีนี้เป็นวิธีการที่ทำให้เกิดผลลัพธ์แบบได้กันทุกฝ่าย หรือ win-win ซึ่งไปหักล้างทฤษฎีของอาดัม สมิธ ที่บอกว่า ผลลัพธ์ดีที่สุดมาจากการที่แต่ละคนทำดีที่สุดเพื่อตัวเอง เขาบอกว่า ผลลัพธ์ดีที่สุดมาจากการที่ทุกคนในกลุ่มทำดีที่สุดเพื่อตัวเองและเพื่อกลุ่ม ทฤษฎีนี้มีอิทธิพลต่อการเจรจาการค้า แรงงานสัมพันธ์ หรือแม้กระทั่งชีววิทยาพัฒนาการ
ฉากสุดท้ายเป็นสุนทรพจน์สั้นๆ ที่กินใจ เป็นคำสารภาพของคนที่ดูยิ่งใหญ่อัจฉริยะ แต่มีผู้อยู่เบื้องหลังที่ยิ่งใหญ่กว่า คนคนนั้นคือ A Beautiful Mind ตัวจริง
“ผมเชื่อมั่นเสมอในตัวเลข ในสมการและตรรกศาสตร์อันนำไปสู่เหตุผล แต่หลังจากที่ค้นหามาตลอดชีวิต ผมถามว่า อะไรคือศาสตร์ที่ว่าด้วยหลักเหตุผลที่แท้จริง ใครคือผู้ตัดสินว่าอะไรคือเหตุผล อะไรไม่ใช่เหตุผล ผมได้ค้นคว้าเรื่องนี้ผ่านทางความรู้สึกนึกคิด ภาพหลอนและภาพจริง ผมได้พบสิ่งสำคัญที่สุดในอาชีพของผม เป็นการค้นพบครั้งสำคัญที่สุดในชีวิต ผมพบว่ามีเพียงสมการอันเร้นลับของความรักเท่านั้นที่จะทำให้เราพบตรรกะแห่งชีวิต ผมขึ้นมายืนอยู่ที่นี่คืนนี้ได้เพราะคุณ คุณคือคำตอบว่าผมเป็นใคร คุณคือคำอธิบายว่าผมมีชีวิตอยู่ได้อย่างไรและเพื่ออะไร”
ดูหนังเรื่องนี้แล้วคิดถึงนักปราชญ์ชาวฝรั่งเศส ซึ่งเป็นนักคณิตศาสตร์ นักดาราศาสตร์ นักปรัชญา ชื่อ Blaise Pascal เขามีอายุอยู่เมื่อประมาณสามร้อยกว่าปีมาแล้ว อยู่ร่วมสมัยกับ Rene’ Descartes บิดาของเหตุผลนิยม คนที่บอกว่า “ฉันคิด ฉันจึงเป็นฉัน” (I think therefore I am)
ปัสคาลบอกว่า เดการ์ตคิดผิด เพราะสิ่งสำคัญที่สุดของคนไม่ใช่ความคิด ไม่ใช่สมองหรอก แต่เป็นหัวใจต่างหาก “หัวใจมีเหตุผลที่เหตุผลไม่รู้จัก” (The heart has reasons that reason does not know)
เขาอีกนั่นแหละที่บอกว่า “ขอบฟ้ามิได้อยู่ที่สุดสายตา แต่อยู่ทุกย่างก้าวที่เราเดิน” ความคิดที่ฟังดูคล้ายกับเต๋า คล้ายปรัชญาตะวันออก เขาเป็นคนที่เชื่อในศาสนา และบอกว่า หัวใจคือสิ่งที่ทำให้เราสามารถรวมเอาศรัทธาและเหตุผลเข้าด้วยกันได้
เขาพูดภาษาเดียวกันกับจอห์น แนช บนเวทีในฉากสุดท้ายซึ่งทำให้เราเข้าใจว่า คุณค่า ความหมายและความยิ่งใหญ่ของชีวิต ไม่ต้องไปหาที่ไหน อยู่ใกล้ๆ ตัวเรานี่เอง
ผู้ชายหลายมิติ (อังกฤษ: A Beautiful Mind) เป็นภาพยนตร์อเมริกันในปี 2001 ที่สร้างจากชีวิตจริงของจอห์น แนช เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ภาพยนตร์กำกับโดยรอน ฮาวเวิร์ด และเขียนบทโดยอคิวา โกลด์สแมน โดยยึดจากหนังสือขายดีที่เคยได้เสนอชื่อเข้าชิงรางวัลพูลิตเซอร์ ในปี 1998 ในชื่อหนังสือ A Beautiful Mind ชื่อเดียวกับหนัง โดยซิลเวีย นาซาร์ โดยภาพยนตร์นำแสดงโดยรัสเซลล์ โครว์ ร่วมกับเจนนิเฟอร์ คอนเนลลี, เอด แฮร์ริส และพอล เบตทานี
เนื้อเรื่องเริ่มต้นในสมัยช่วงแรกในชีวิตของแนชที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน เขาได้พัฒนาแนวคิดที่จะปฏิวัติวงการคณิตศาสตร์โลก ในต้นเรื่อง แนชยังได้เกิดอาการจิตเภทหวาดระแวง ขณะที่ตัวแนชก็ทำให้เกิดภาระกับภรรยาและเพื่อน ๆ ของพวกเขา
ภาพยนตร์เปิดตัวในสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม ค.ศ. 2001 โดยได้รับเสียงตอบรับในด้านคำวิจารณ์ที่ดี ทำรายได้ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั่วโลก และยังได้รับรางวัลออสการ์ 4 สาขาจากเวทีรางวัลออสการ์ รวมถึงในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ผู้กำกับยอดเยี่ยม บทดัดแปลงยอดเยี่ยม และนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม