หมวดหมู่ : หนังตลก , หนังอาชญากรรม , หนังดราม่า , หนังสยองขวัญ , หนังระทึกขวัญ
เรื่องย่อ : ดูหนัง 13 Beloved 13 เกมสยอง 2006 เต็มเรื่อง
เรื่องย่อ 13 BELOVED คือ โอกาส หรือ ทางเลือก ที่ถูกเปิดให้กับใครบางคนที่ได้รับการคัดเลือกว่า เหมาะสม หรือ คู่ควรเท่านั้น ว่ากันว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถเดินเข้าสู่ 13 BELOVED ได้ วิธีการนะเหรอ ไม่ต้องหาให้เสียเวลา เพราะเมื่อถึงเวลามันจะเลือกคุณเอง ดูเหมือนว่าสถานการณ์รอบตัวในชีวิตของภูชิต (น้อยวงพรู) เซลล์แมนขายเครื่องดนตรีกำลังเดินทางมาถึงทางตันของชีวิตแล้วจริง ๆ เมื่อจุดจบในหน้าที่การงานกำลังจะถูกหยิบยื่นโดยเจ้านายของเขาโทษฐานที่ไม่สามารถทำยอดขายทะลุเป้าได้ หนำซ้ำคนรักก็ทิ้งไปมีคนใหม่ หนี้สินล้นตัวจากเงินกู้ในฐานะลูกที่ดีที่เข้ามาทำงานในเมืองใหญ่ต้องรับผิดชอบส่งเสียน้องสาววัยเรียนและแม่ที่ต้องเลี้ยงดูเขาและน้องเพียงลำพังตั้งแต่เล็ก เริ่มออกดอกออกผลกลืนกินชีวิตเขาเข้าเต็มที แม้แต่รถยนต์ที่ขาดส่งไป 3 เดือนก็ยังถูกยึดไปต่อหน้าต่อตา แต่แล้วโอกาสสุดท้ายในชีวิตก็ถูกหยิบยื่นให้ตรงหน้าโดยที่เขาเองก็ไม่คาดคิด ในฐานะ ผู้ถูกเลือก เมื่อโทรศัพท์มือถือดังขึ้น เสียงลึกลับจากปลายสายดึงเขาเข้าสู่ 13 BELOVED เกมท้าทายชีวิตที่มีโจทย์ 13 ข้อให้เขาค้นหาคำตอบและเล่นโดยมีผลตอบแทนที่ดึงดูดใจคือเมื่อใดก็ตามที่เขาสามารถผ่านโจทย์แต่ละข้อมูลค่าของเงินสะสมก็พร้อมที่จะทวีคูณขึ้นไปเรื่อย ๆจะถูกส่งเข้าบัญชีธนาคารที่เขาสามารถตรวจสอบได้ท และถ้าเขาสามารถทำได้ครบทั้ง13ข้อยอดเงินสะสมที่มีตัวเลขสูงถึง100 ล้านบาท จะเป็นของเขาทันที นี่คือผลตอบแทนในฐานะผู้พิชิตที่อุตสาห์ร่วมบากบั่นในฐานะผู้ร่วมสนุกในเกม โดยมีเงื่อนไขที่ว่าเมื่อใดก็ตามที่เขาหยุดเล่นเงินสะสมทั้งหมดจะถูกยกเลิก หากบอกต่อให้คนอื่นรู้เกมถือว่าเป็นโมฆะ และหากพยายามติดต่อกลับหมายเลขดังกล่าวถือว่าเกมสิ้นสุด เพียงทว่าการเล่นเกมดังกล่าวของเขากลับปลุกอดีตที่หลับใหลให้มาบรรจบปัจจุบันขึ้นอีกครั้ง แน่นอนว่าพร้อมที่จะส่งผลต่ออนาคตที่เกิดจากการเลือกและตัดสินใจเดินบนเส้นทางนี้ของเขาเองถึงแม้ว่ามันจะเดิมพันด้วยชีวิตของเขาและคนรอบข้างก็ตาม
IMDB : tt0883995
คะแนน : 6.7
รับชม : 8353 ครั้ง
เล่น : 3530 ครั้ง
ภูชิต (น้อย วงพรู) เซลล์แมนขายเครื่องดนตรี เขาอยู่ในสปีชี่ส์มนุษย์เงินเดือนที่ตกเป็นทาสของระบอบเงินผ่อนและบัตรเครดิต เขาเป็นเหมือนพนักงานออฟฟิซทั่วไปที่กินเงินเดือน หมื่นห้า แต่ดันเลือกผ่อนมาสด้า 3 นอนคอนโดชั้นดี พร้อมมี โนเกียรุ่นใหม่ล่าสุดควบบลูทูช นั่นทำให้ เขาต้องคอยจัดการหนี้บัตรเครดิตที่วิ่งไล่ขวิดทุกสิ้นเดือน และมันคือ ชะตากรรมที่เขาเองเป็นคนเลือก
การใช้ชีวิตอย่างขาดสติบนพื้นฐานของสังคมทุนนิยมของภูชิต เป็นตัวอย่างของคนหลายๆคนที่เราอาจเดินชนบนฟุตบาธในกรุงเทพและในหลายๆเมืองใหญ่ พวกเขาเหล่านี้ล้วนต้องเล่น เกมชีวิต ที่ยากลำบากอยู่แล้วในแต่ละเดือนที่ต้องเอาชีวิตให้รอด
แต่แล้ววันหนึ่ง วันที่เขาสูญเสียงาน วันที่เขาถูกยึดรถ วันที่เขาค้างค่ามือถือ วันที่แม่โทรศัพท์มาขอค่าเทอมของน้อง คือ วันเดียวกับที่ 13 ก้าวเข้ามายื่นข้อเสนอที่ยากจะปฏิเสธได้
เกม 13 ข้อที่มีรางวัลเป็นเงิน 100 ล้านบาท หากผ่านการทำตามโจทย์ได้ครบทั้ง 13 ข้อ
เป็นใครเห็นโจทย์ที่เย้ายวนเช่นนี้ก็ยากที่จะปฏิเสธได้ลง แต่ เมื่อโจทย์นั้นทวีความรุนแรงและท้าทายต่อความรับผิดชอบชั่วดีของเรา เราเลือกจะขายวิญญาณและความดีในจิตใจให้กับเงินรางวัลตรงหน้าได้มากแค่ไหน แค่ฆ่าแมลงวัน แค่แกล้งเด็กร้องไห้ หรือ ไปไกลถึงการฆ่าคน
ทุกเกมในชีวิต ภูชิตเป็นคนเลือก
13 ไม่ได้ทำให้ชีวิตของภูชิตย่อยยับ 13 เป็นเหมือนกับปีศาจหรือซาตานที่เพียงมายื่นข้อเสนอ แต่ คนที่ตัดสินใจว่าจะ
ทำ หรือ ไม่ทำ คือตัวมนุษย์ผู้นั้นเอง
ดังนั้นแม้หนังเรื่อง 13 จะเหมือนกับ Saw หรือ Cube ตรงที่ตัวละครในหนังต้องเล่นเกมเอาชีวิตเป็นเดิมพันจาก ใครบางคน แต่ ตัวละครจากหนัง Saw หรือ Cube ไม่มีสิทธิเลือกว่าจะเล่นหรือไม่เล่น พวกเขาจำเป็นต้องเล่นเพื่อเอาชีวิตรอด ตรงข้ามกับ ภูชิต ที่มีสิทธิเลือกหรือหยุดเกมเมื่อไหร่ก็ได้ที่ต้องการ
13 จึงเป็นเหมือน บททดสอบท้าทายระหว่าง กิเลสความต้องการ (Id) กับ ศีลธรรม(Superego) ในใจคน
ตัวละคร สมบัติ ดีพร้อม ที่รับบทโดยหม่ำในหนังเรื่อง เฉิ่ม กล่าวประโยคหนึ่งที่ทำให้เราเข้าใจจิตใจมนุษย์ได้ดีขึ้นนั่นก็คือ "ความดีนั้นยังคงทน ตราบที่ใจคนไม่อ่อนแอ”
เกราะกำบังที่คอยป้องกันไม่ให้คนถูกกิเลสตัณหาเข้าครอบงำ มักจะอ่อนแอในวันที่คนๆนั้นรู้สึกว่า ชีวิตกำลังตกที่นั่งลำบาก และ รู้สึกหมดทางสู้ รู้สึกว่าไม่มีทางออกให้กับชีวิต
มนุษย์เราเมื่อถึงจุดอับ เมื่อจนตรอก เรามักคิดว่า ชีวิตไม่มีทางเลือก ความคิดเช่นนี้มักพาไปสู่การฆ่าตัวตาย ทำร้ายคนอื่น ฉกชิงวิ่งราว เพราะคิดว่า ไม่มีทางเลือกอื่นๆที่ดีไปกว่านี้
แต่ไม่จริงหรอกที่ มนุษย์ไม่มีทางเลือก เราทุกคนมีทางเลือกในชีวิตเสมอ เพียงแต่ ทางเลือกนั้นอาจไม่ถูกใจเราเท่านั้นเอง
ภูชิต สามารถเลือกได้ที่จะไม่เล่นเกม เขาเลือกได้ที่จะหยุดเกมไว้แต่ต้น เพียงแต่ ทางเลือกนั้นเขาต้องแลกกับความลำบากมากขึ้น ต้องเหนื่อยมากขึ้น กับการทำงานหาเงิน ต้องยอมทนใช้ชีวิตขึ้นรถเมล์และผ่อนหนี้บัตรเครดิต ต้องยอมบากหน้าไปบอกแม่ว่าไม่มีเงินส่งกลับบ้าน
เขาเลือกได้ แต่หลายคนมองว่า เส้นทางนี้ไม่ใช่ทางเลือก เพราะเราอยากได้แต่ทางเลือกที่ตอบสนองความต้องการในใจ(need) และ นั่นจึงทำให้ ซาตานมาหามนุษย์ได้ง่ายขึ้น เหมือนที่ 13 บอกไว้ก่อนหน้านี้ใน 12 แล้วว่า ไม่ต้องตามหาเขา แต่เมื่อถึงเวลา 13 จะมาหาเอง
สังเกตได้ว่า คนที่มีพื้นฐานศีลธรรมหรือมีจิตใจมั่นคง มักไม่อ่อนไหวไปง่ายๆกับการถูกยั่วยวนด้วยกิเลสที่วิ่งเข้ามา แม้ว่าจะมีความต้องการมากเพียงใด ดังนั้นมนุษย์ส่วนใหญ่มักจะไม่พ่ายแพ้ง่ายๆทีเดียว แต่มนุษย์มักจะสูญเสียเกราะกำบังแห่งความดีนี้ ด้วย วิธีการของซาตานที่เรียกว่า “หยวนๆ”
การหยวนๆ สามารถอธิบายได้ด้วยทฤษฎีทางพฤติกรรมของมนุษย์ ในลักษณะ desensitization หมายความถึงการที่เรายอมต่ออะไรเล็กๆน้อยๆที่เป็นเรื่องผิด การยอมในเรื่องเล็กๆทำให้เรารู้สึกผิดน้อยๆ แต่เมื่อผ่านไปบ่อยขึ้น ความรู้สึกผิดเล็กๆนี้ก็จะชาชิน และ สุดท้ายก็จะกลายเป็นชินชาจนไม่รู้สึกอะไร และ มันก็จะเริ่มรุกคืบไปเป็นอะไรที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ตามมาด้วย ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีที่ก็จะค่อยๆละลายหายไปเรื่อยๆเช่นกัน
ไม่ต้องดูอื่นไกล แต่ โจทย์13 ข้อในเกมส์ที่ถูกกำหนดมานั้น จะเห็นว่า บททดสอบแรกๆเริ่มต้นด้วยอะไรที่ง่ายๆ แต่ ในความง่ายนั้นมันก็มีการละลายความรู้สึกผิดไปทีละน้อยอย่างไม่รู้ตัว ตั้งแต่เกมส์แรกกับภารกิจ ฆ่าแมลงวัน สิ่งมีชีวิตที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ มันเป็นแค่สัตว์ตัวเล็กๆที่ไม่มีความหมาย การตายของมันจึงทำให้ภูชิตไม่ต้องรู้สึกผิดมากมาย แต่อย่าลืมว่า ในเวลาปกติ หากแมลงวันไม่ได้มาตอมหรือสร้างความรำคาญ เราคงไม่รุกรานไปตีมันเล่นๆ
การตามติดมาด้วย การกินแมลงวัน นั่นก็คือการละลายความรู้สึกเคารพเกรงใจตัวเอง และ ก็ตามมาด้วยโจทย์ข้อที่ง่ายแต่ชัดเจนว่า เกราะกำบังจิตใจของภูชิต เริ่มอ่อนแอไปทุกที เมื่อเขาต้องเข้าไปทำให้เด็กร้องไห้ เขากำลังจะกลายเป็นผู้กระทำเต็มตัว และเด็กเหล่านั้น ก็กำลังจะเป็นเหยื่อสังคมเหมือนเขา ที่ถูกกระทำมาทั้งชีวิตดั่งที่หนังแฟลชแบคให้เห็น ถัดจากนี้ ก็คงไม่ต้องสงสัยว่า ภูชิตจะไปได้ไกลแค่ไหน
ปมในอดีตเป็นอีกหนึ่งจุดอ่อนของภูชิต และ เป็นจุดอ่อนของมนุษย์ทุกคน เช่น ปมรู้สึกด้อย(inferiority complex) ของ ภูชิต เมื่อถูกกระตุ้นก็ทำให้เขากล้าที่จะกินอาหารในโจทย์เพื่อเอาชนะและได้เงินรางวัล และ ปมในจิตใต้สำนึกนี้เอง หากเราไม่เคยตระหนักรู้ตัว เราก็มักจะถูกกระตุ้นให้ต้องทำในสิ่งผิดๆได้ง่ายๆอยู่ร่ำไป
และนั่นคือ จุดที่ผมชอบในหนังเรื่องนี้ 13 ไม่ใช่หนังตะบี้ตะบันวิ่งไล่แทงกันให้เลือดล้นจอ หรือเป็นแค่เกมส์ผ่านด่านไปทีละด่านเหมือน cube แต่ 13 แอบซ่อนการสะท้อนปัญหาสังคมผ่านโจทย์แต่ละข้อ ผ่านเรื่องราวและตัวละคร เราจะเห็นได้เลยว่า ตัวละครในเรื่องที่มีบทบาทในหนัง ล้วนมีลักษณะร่วมเหมือนกัน นั่นคือ
ถ้าไม่ใช่ คนที่ถูกลืม คนที่ถูกทอดทิ้ง เช่น กี้ ปู่ชิว ภูชิต (กี้ เล่นเกมส์จนหายไปนานลือกันว่าตาย แต่เพื่อนกลุ่มเดียวกันแท้ๆกลับไม่มีใครใส่ใจ ,
ปู่ชิวตายไปแล้วเป็นสิบวัน แต่ญาติอยู่ใกล้กันแค่เอื้อมกลับไม่มีใครเอะใจหรือสงสัยสะท้อนถึงว่า ช่วงที่มีชีวิตอยู่ของแกก็ไม่มีใครคงไม่มีใครแคร์ ,
ภูชิตถูกเมินจากคนรักเก่า ถูกมองอย่างเหยียดหยามในร้านอาหารตอนโจทย์ข้อ 5 และเจ้านายก็ไม่สนใจว่าเขาจะตั้งใจทำงานแค่ไหนเพราะเขาไม่มีความหมายเมื่อไม่ทำยอดได้ดั่งเป้า)
ก็จะเป็น
-
คนที่เป็นปัญหาสังคม (นักเรียนช่างกลกลุ่มชอบมีเรื่อง / แก๊งมอเตอร์ไซค์ซิ่งกวนเมือง / ผู้ชายที่ชอบซ้อมผู้หญิง)
หนังสะท้อนสภาพสังคมปัจจุบันที่เราต่างมีชีวิตตัวเองแบบต่างคนต่างอยู่ และ ต่างรับรู้แค่เรื่องของตัวเองจนไม่สนใจใคร รวมทั้งถ่ายทอดมุมมืดในสังคมให้เราได้รับรู้ ลามไปถึงถึงมุมมืดในใจคน แถมยังอุตส่าห์มีการแอบเสียดสีบุคคลสำคัญในฉากตีแมลงวันอีกต่างหาก
13 ดัดแปลงมาจากตอนหนึ่งในการ์ตูนชื่อ จิตหลุด ของสนพ.วิบูลย์กิจ เขียนโดยฝีมือนักเขียนไทยนามว่า เอกสิทธิ์ ไทยรัตน์ ซึ่งมาร่วมเขียนบทใน13 ด้วย ภูชิตในการ์ตูนต่างออกไป เขาไม่ได้มีพ่อเป็นฝรั่งในวัยเด็ก ,ไม่มีเรื่องของกี้ , ไม่มีตัวละครฝ่ายดีอย่างอิม อชิตะ และ ฉากสุดท้ายหรือเกมส์ข้อ 13 จัดขึ้นในห้องส่ง โดยมีผู้ชมนั่งลุ้นกันสดๆ กับบทสรุปของการกระทำที่เหมือนกัน แต่ต่างกันตรง ตัวละครสุดท้ายคือยายแก่ๆคนหนึ่ง ในการ์ตูนเล่มนี้ยังมีอีกหลายๆตอนที่คนเขียนขายไอเดียในแนวคล้ายคลึงกับ 13 ได้อย่างน่าสนใจ และ ผู้เขียนเองก็ทิ้งท้ายไว้ในเล่มว่า หากมีใครสนใจสร้างเป็นหนังเขาก็พร้อมจะขยายเนื้อเรื่องต่อ นั่นจึงนำมาสู่ 12 และ 13
12 และ 13 เป็นผลงานของผู้กำกับ มะเดี่ยว - ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ผู้กำกับที่แจ้งเกิดมากับการทำหนังสั้น เขาแสดงให้เห็นการพัฒนาของชิ้นงานมากขึ้นไปกว่าเรื่องก่อน คนผีปีศาจ อาจจะชวนให้กดดันได้มากกว่ากับการเล่นในเนื้อที่จำกัด แต่ คนผีปีศาจ สำหรับผมแล้วมันให้ความรู้สึก ยืดยาวเกินไป หนังยังไม่ค่อยกระชับอีกทั้งการหยิบจับประเด็นทางสังคมในตอนนั้นมาเล่นก็ยังดูตรงไปตรงมาเกินไปนิด ในขณะที่ 13 ลงตัวมากกว่า ความเป็นหนังยาวของ 13 ทำออกมาได้ดีกว่า คนผีปีศาจ และ 13 ก็ทำให้คนดูรู้สึกสนุกอย่างต่อเนื่องไปจนจบมากกว่า
น้อย วงพรู เล่นเป็น ภูชิต พระเอกของเรื่องได้กลมกลืนเสมือนเป็นตัวละครตัวนั้นจริงๆ ต้องชมคนที่เลือกเขามารับบทนี้ด้วย แค่เห็นและแค่พูด ความเก็บกดอดทนก่อนที่จะระเบิดออกมา น้อย ทำให้คนดูเชื่อกับการแสดงที่ดูจริงใจเสมือนถ่ายทอดอารมณ์ออกมาจากตัวตนของเขาจริงๆ ฉากระล่ำละลักละล้าละลังเช่นในเกมส์ที่ 8 กับเก้าอี้ตัวนั้นหลังกระหน่ำฟาดลงไป อารมณ์ของเขาเองทั้งโกรธทั้งผิดหวังทั้งน้อยใจ แต่ก็ยังรักและเป็นห่วงในตัวแฟนเก่า เป็น ฉากที่เขาเล่นได้ดีมากๆฉากหนึ่ง นอกจากนี้ อิม – อชิตะ ก็ได้โอกาสโชว์ฝีมือให้เห็นว่าเธอเป็นได้มากกว่าผีหรือตัวละครบ้าๆบอๆ
13 เป็นหนังที่ดี แต่ไม่ใช่หนังที่เหมาะกับคนทุกวัย หนังมีประเด็นที่ละเอียดอ่อนต่อการทำให้เยาวชนที่วุฒิภาวะยังไม่เติบโตพอ หรือ ระบบกรอบความคิดที่ยังไม่เติบโตพอ อาจคล้อยตามความคิดอันตรายในหนังได้ ไม่ใช่การดูถูกว่าเด็กคิดอะไรไม่เป็น แต่อย่าลืมว่า มนุษย์เราทุกคนล้วนมีพัฒนาการทั้งด้านร่างกาย ด้านจิตใจ ไปจนถึงด้านศีลธรรม(Moral development) ดังนั้นการซึมซับหรือรับรู้ข้อความที่ไม่ได้ผ่านการชี้แนะหรือกลั่นกรอง มีความเสี่ยงต่อการปลูกรากของความเข้าใจผิดในตัวเด็ก และ หากผมเป็นหนึ่งในคณะกรรมการเซ็นเซอร์ มีโอกาสทีเดียวที่จะฟันธงให้เรื่องไปอยู่ที่ R แก่ๆและค่อนไปถึงเรต NC-17 เสียด้วยซ้ำ แม้ไม่ได้มีเลือดกระฉูดสมองกระเซ็น แต่ ความรุนแรงในหลายฉากนั้นดูจริงมาก และ บทสรุปของข้อ 13 แม้เป็นความจริงที่พบได้ในโลกใบนี้ แต่ก็ไม่ใช่ความจริงที่เหมาะสมจะให้เด็กๆดู
ในบทสรุปของข้อ 13 หนังน่าจะทำให้คนดูอึ้งและถึงพีคได้ในฉากจบที่ *** ใช้ *** จัดการกับ *** แต่เมื่อหนังเปิดตัวละครตัวสุดท้ายอุ้มแมวสีขาว เหมือนหลุดออกมาจากหนังเจมส์บอนด์ ห้อมล้อมด้วยจอมอนิเตอร์ปานประหนึ่งในห้องสถาปนิกใน Matrix หนังก็เหมือนดึงคนดูอย่างผมลงมาจากพีคที่กำลังอึ้งกิมกี่นั้นในพริบตา
การสอนคนดูด้วยคำพูดจากปากตัวละครดูขาดความน่าเชื่อถือและไม่เข้าหูเท่าไหร่นัก ปัญหาไม่ได้อยู่ที่วัยของตัวละครตัวนี้ แต่ปัญหาอยู่ที่การออกแบบฉากสถานที่เครื่องแต่งกายและลักษณะตัวละคร ทำให้ตัวละครนี้ดูไม่สมจริงมากๆบวกกับการแสดงที่ค่อนข้างทื่อๆไปนิด คำพูดที่เขาเอ่ยออกมาจึงไม่มีผลกระทบให้คนดูต้องทึ่งไปกับเนื้อความในประโยคนั้น
ฉากนี้แสดงออกชัดเจนว่า หนังลักลั่นกับการเลือกนำเสนอ ความจริง(reality) และ ความเสมือนจริง(fantasy) การขาดความชัดเจนและคาบเกี่ยวของสองส่วนนี้ ทำให้ คนที่อยากให้เห็นอะไรสุดๆมากกว่านี้ก็ต้องมาติดกับกรอบของความเป็นจริง และ คนดูที่ชอบในส่วนความสมจริงก็ต้องมาหงุดหงิดกับรูโหว่เล็กๆน้อยๆที่หาเหตุผลมารองรับได้ไม่หมดตั้งแต่ต้นเรื่อง เช่น กล้องถ่ายมุมนั้นได้อย่างไร , คนคุมเกมส์รู้ไปหมดทุกเรื่องได้อย่างไร ฯลฯ
หากใครไม่ได้ดู 12 มาก่อน ก็ยิ่งจะรู้สึกงงๆกับความไร้ที่มาที่ไป แต่แล้ว 12 ก็ทำให้ผมรู้จักและเข้าใจตัวละครที่โผล่มาในตอนนี้มากยิ่งขึ้น
12 เป็นหนังสั้นที่เรื่องราวเกิดก่อน 13
12 ชวนอึ้งและกระชับกว่า 13 ส่วนจะดูอะไรก่อนนั้นก็ไม่แตกต่างกันนัก
-การดู 12 ก่อนจะทำให้เราเข้าใจ 13 ได้มากขึ้น แต่ในเวลาเดียวกัน ก็ทำให้ความลึกลับที่เราไม่รู้ใน 13 เฉลยมากเกินไป เพราะ เราจะรู้แต่แรกแล้วว่า 13 มีที่มาจากไหน นั่นทำให้ ความสนุกจากการไม่รู้ลดน้อยถอยลง เช่น ผมซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้ดู 12 มาก่อน ย่อมฉงนและดูไปอยากรู้ไปว่า 13 มีที่มาจากไหน ความไม่รู้จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้รออย่างใจจดใจจ่อว่า 13 คืออะไร ดังนั้น การรู้แต่แรกก็ทำให้ความสนุกจุดนี้ลดลงไป
-แต่หากเลือกตามเก็บ 12 ทีหลัง เมื่อดู 13 จบก็อาจสงสัยในตัวบทที่ดูเหมือนไม่มีที่มาที่ไป เช่น ทำไมบทของศรัณยูถึงมุ่งมั่นขนาดนี้ , กี้เด็กคนสุดท้ายในเรื่องเป็นใคร หรือ เด็กที่ตายตอนต้นเรื่อง 13 มีความหมายอย่างไร ฯลฯ
เนื้อหาของ 12 เล่าเรื่องของเด็กมัธยมกลุ่มหนึ่งซึ่งมีเพื่อนหายสาบสูญไปชื่อ กี้ มีข่าวว่ากี้ตายไปแล้ว วันดีคืนดี กี้ มาปรากฏใน MSN เพื่อนในกลุ่มที่เหลือจึงพยายามตามหา กี้ แต่แล้วการตามหากลับตามมาด้วยการสูญหายของเพื่อนในกลุ่มไปทีละคน
เต้ หนึ่งตัวละครสำคัญในกลุ่มที่เป็นลูกชายของนายตำรวจสุรชัย ร่วมมือกับ มิก ตามไปจับตัวกี้ที่โรงเรียนตอนกลางดึก เพราะสืบค้นได้ข้อมูลมาจาก แบ้ เพื่อนที่หายตัวไปว่า กี้ ออนMSNจากเครื่องคอมในโรงเรียน แล้วทั้งคู่ก็ไปพบกับโน้ตบุ้คที่วางเปิดไว้ในห้องเรียน ในนั้นเป็นภาพวิดีโอที่ถูกอัดไว้และเปิดเผยความลับของการทัศนศึกษาปีก่อนว่า กี้ เคยถูกครูวิทยาศาสตร์ล่วงเกินทางเพศ
เต้ กับ มิก ต้องหนีการตามล่า ครู ที่โผล่มาเพื่อกลบเกลื่อนหลักฐานและต้องการฆ่าปิดปาก กระสุนพลาดไปโดนขาเต้ มิกจึงพาเต้ไปซ่อนไว้ในตู้ชั่วคราว แต่จู่ๆในตู้ก็ร้อนขึ้นเรื่อยๆแล้วเต้ก็เหลือบไปเห็น เหล็กดัดฟันของแบ้ ตกอยู่ข้างๆ นั่นหมายความว่า ตู้แห่งนี้ก็เป็นที่สุดท้ายที่แบ้ได้มีโอกาสหายใจ
แล้วกล้องก็ฉายให้เราเห็นภายนอกตู้ใบนี้ ตรงประตูตู้แปะกระดาษเขียนไว้ว่า 12 นั่นหมายถึง นี่คือ เกมส์ที่ 12 ของมิก ที่เล่นเพื่อผ่านด่านเข้าไปสู่ 13
กี้หายไปเพื่อสร้าง 13 ขึ้นมา และ 13 นี้เองก็เป็นตัวคร่าชีวิตเพื่อนในกลุ่มไปทีละคน จนเหลือแค่ มิก ที่จะมาโผล่ใน 13 ตอนต้นด้วยการช่วยคุณยายข้ามถนน
13 คือโลกใบใหม่ที่ กี้ คาดไว้ว่าจะเป็น โลกที่สวยสดงดงามของตัวเอง แท้จริงแล้ว 13 ไม่ได้มีคุณค่าอะไรเช่นนั้นแม้แต่นิดเดียว 13 เป็นเพียงโลกที่ถูกถ่ายทอดจากบาดแผลของความเจ็บปวดของมนุษย์ที่ถูกสังคมกระทำชำเรา
ตัวละครที่เป็นตัวเอกของ 12 และ 13 ล้วนเป็น ผลตกค้างของการถูกกระทำชำเราจากความมืดบอดในสังคม
12 กับ 13 เกิดขึ้นจากเมล็ดพันธุ์ของการถูกทารุณกรรมทั้งทางเพศ(sexual abuse) และ ทางร่างกาย(physical abuse) ฝังอยู่กลายเป็นบาดแผลในใจ และ บาดแผลที่เน่าเฟะนั้นก็ทำให้ คนดีๆหลายคนต้องเปลี่ยนไป ผู้ถูกกระทำหลายคนที่ยังคงความโกรธแค้น ความเกลียดชัง ฝังไว้ในใจรอวันระเบิด เหมือนกับที่ กี้และ ภูชิต ทำออกมา
กี้ เป็น เหยื่อของการทารุณกรรมทางเพศ ตามทฤษฎีของ David Finkelhor บอกไว้ว่า หนึ่งในผลพวงต่อเนื่องของการถูกล่วงละเมิดทางเพศคือความรู้สึกไร้ซึ่งอำนาจเหมือนไม่สามารถควบคุมสิ่งใดๆ (powerlessness) และ นั่นจึงอธิบายตามมาได้ว่า ทำไมกี้จึงต้องการสร้าง 13 เพราะ 13 ก็เปรียบได้เหมือนกับโลกที่เขาสามารถมีอำนาจควบคุมทุกอย่างได้ดังใจ โลกที่ไม่มีใครจะทำอะไรเขาได้อีก
ส่วน ภูชิต เป็น เหยื่อของการทารุณกรรมทางกายและทางอารมณ์(physical & emotional abuse) มาตั้งแต่เด็ก แต่ด้วยบุคลิกแบบเก็บกดความรู้สึกภายใน คนอย่างบุญชิตก็ใช้กลไกทางจิตทั้ง เก็บกด(repression) ทั้ง แปรความรุนแรงความเกลียดชังเป็นความสุภาพนิ่งเฉย(reaction formation) เขาถูกกระทำทั้งจากเพื่อนในวัยเด็ก จากพ่อ จากคนรักที่ทิ้งไป และ ถึงขีดสุดจากเพื่อนร่วมงานที่แย่งงานกันหน้าด้านๆและจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มาแทนที่เขา
กี้ ลุกขึ้นมาปฏิวัติสังคมด้วยความเชื่อแบบผิดๆ ส่วน ภูชิต ถูกความอ่อนแอในใจกัดกร่อนให้ยอมรับข้อเสนอของซาตาน
ทั้งสองคนเป็นคนดีๆที่เคยถูกกระทำ(being abused) และถูก สังคมแปรเปลี่ยนไปเป็น ผู้กระทำ(abuser) แม้สุดท้าย ภูชิต จะเลือกดึงชีวิตจิตวิญญาณตัวเองกลับคืนมา เพราะ เขารับรู้ว่า ในความเลวร้ายของพ่อ จะอย่างไรก็ยังมีความดีงาม และ จะอย่างไร ชายตรงหน้าก็คือพ่อของตัวเอง มนุษย์ย่อมไม่ใช่สัตว์เดรัจฉานที่ฆ่าพ่อแม่เพื่อเลี้ยงตัว
แต่การรู้ตัวในตอนนี้มันก็สายเกินกว่าจะทำได้แล้ว เพราะเส้นทางที่เขาเลือกเดินมา มันก็เต็มไปด้วยคนที่ยอมขายวิญญาณให้ปีศาจเช่นเดียวกัน การถูกพ่อตัวเองแทงตายในตอนจบนั้นเหมือนจะเย้ยหยันว่า ต่อให้กลับตัวกลับใจ สังคมก็ใช่ว่าจะสวยสดงดงามตามไปด้วย สิ่งเดียวที่เราจะช่วยให้เรามีชีวิตอยู่ได้อย่างยั่งยืน คือ ตัวของเราเองที่จะยึดมั่นกับความดีงามของจิตใจได้มากเพียงใด
หากจิตใจไม่แข็งแกร่งพอ ต่อให้ภูชิตรอดไปในวันนี้ ภูชิตก็จะเหมือนกับ Keanu Reeves ในหนังเรื่อง The Devil's Advocate ที่ต้องเผชิญกับซาตานต่อไปเป็นวัฏจักรไม่รู้จักจบจักสิ้น เพราะ เราทุกคนต่างก็อยู่ในสังคมที่กิเลสเย้ายวนอยู่รอบตัวและเราทุกคนต่างก็ยังเป็นมนุษย์ที่มีความต้องการอยู่ในรากฐานของจิตใจ
สรุป ... เป็นหนังสั้นที่เยี่ยมยอดในแง่การสร้างความระทึกขวัญ ขนาดผมรู้เรื่องทั้งหมดแล้ว ตอนดูก็ยังอดลุ้นและตื่นเต้นตามไปด้วยไม่ได้ อาจเป็นเพราะผู้กำกับเติบโตมาทางสายหนังสั้น 12 จึงลงตัวกว่า 13 แต่ ถึงอย่างไร 13 เป็นหนังไทยที่เยี่ยม และก็ดีกว่าหนังไทยอีกหลายๆเรื่องที่มีแนวเดียวกันนี้ เหมาะเป็นอย่างยิ่งกับคอหนังที่ชอบอะไรตื่นเต้นกดดัน และ หนังมีอะไรมากไปกว่าการไล่เชือดคอกันเพียงอย่างเดียว