หมวดหมู่ : หนังดราม่า , หนังวิทยาศาสตร์ Sci-fi , หนังระทึกขวัญ
เรื่องย่อ : ดูหนัง Z for Zachariah โลกเหงา...เราสามคน เต็มเรื่อง
Z For Zachariah เป็นหนังไซไฟที่สร้างจากนวนิยายวิทยาศาสตร์ชื่อดัง โดยเป็นเรื่องราวหลังจากวันล่มสลายของโลก แจ่ปรากฎว่ามีกลุ่มผู้รอดชีวิตหลงเหลือ พวกเขาต้องหาทางใช้ชีวิตอยู่กันให้ได้ ซึ่งนอกจากหนังจะได้เห็นภาพความน่ากลัวของวันสิ้นโลกแล้ว ยังพาเราไปรู้จักกับความซับซ้อนความหมายของชีวิตและความรักอีกด้วย โดยเน้นไปที่เรื่องราวของ Ann Burden สาวผู้รอดชีวิตที่พบกับชายผู้รอดชีวิตคนอื่นและตกหลุมรักกัน แต่มันไม่ง่ายอย่างนั้นเพราะรักที่เกิดขึ้นเป็นรักสามเส้า
IMDB : tt1598642
คะแนน : 6
รับชม : 3328 ครั้ง
เล่น : 1105 ครั้ง
“มันคือเรื่องเล่าของวันสิ้นโลก และสถานที่ในเรื่องก็เป็น ‘โอเอซิส’ แห่งสุดท้าย ผมจึงรู้สึกว่ามันเหมาะควรแล้วที่เราจะมุ่งสำรวจตัวละครที่มาจากต่างถิ่นต่างที่เป็นหลัก รวมถึงสถานะของการเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง คนผิวสีหรือคนผิวขาวด้วย”
เคร็ก โซเบล (ผกก. Great World of Sound, Compliance) อธิบายถึงหนังของเขาที่เคยได้รับเสียงชื่นชมไม่น้อยจากซันแดนซ์อย่าง Z for Zachariah (2015) ซึ่งเล่าถึงชีวิตในโลกหลังวิกฤตนิวเคลียร์ของ แอนน์ เบอร์เดน (มาร์โกต์ ร็อบบี) หญิงสาวในชุมชนร้างกลางหุบเขาสีเขียวขจีผู้เคยคิดว่าตนเป็นผู้รอดชีวิตเพียงคนเดียวที่เหลืออยู่บนโลก แต่กลับได้มาพานพบกับชายผู้รอดชีวิตอีกถึงสองคนในเวลาไล่เลี่ยกัน ทั้งนักวิทยาศาสตร์อย่าง จอห์น ลูมิส (ชูว์เอเทล เอจีโอฟอร์) และ เคเลบ (คริส ไพน์) อดีตคนงานเหมืองที่โผล่เข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญในความสัมพันธ์ของสองคนแรก
ผู้เขียนบท นิสซาร์ โมดี (Breaking at the Edge) ดัดแปลงบทหนังจากนิยายไซ-ไฟชื่อเดียวกันของ โรเบิร์ต ซี โอไบรอัน (อันเป็นนามแฝงของ โรเบิร์ต เลสลี คอนลี แห่ง Newsweek และ National Geographic ที่มักถูกใช้ในงานวรรณกรรมเด็กและแฟนตาซีของเขา อาทิ Mrs. Frisby and the Rats of NIMH [1971] -ว่าด้วยกลุ่มหนูทดลองที่หนีออกมาจากห้องแล็บและรวมหัวกันสร้างสังคมใหม่ขึ้นมา- ซึ่งเคยถูกดัดแปลงเป็นหนังเรื่อง The Secret of NIMH [1982, ดอน บลูธ] มาแล้ว) โดยมีโซเบลคอยดูแลการดัดแปลงบทหนังเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด “มันเป็นหนังสือที่เจ๋งมาก แล้วมันก็ถูกเขียนขึ้นมาตั้งแต่ปี 1974 โน่นแน่ะ แถมยังไม่มีใครดัดแปลงมันให้เป็นหนังฮิตได้เลย (มันเคยกลายเป็นหนังโทรทัศน์ที่ถูกลืมทางช่อง BBC มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 1984) อาจเพราะมันเป็นหนังสือที่ดัดแปลงลำบาก เนื่องจากมีแต่ตัวละครที่ดีสุดขั้วกับชั่วสุดขีด ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนที่ยากต่อการดึงความสนใจคนไว้ได้นานๆ จึงไม่ง่ายเลยที่จะทำมันให้ออกมาเป็นหนัง”
แต่กระนั้น ก็ดูเหมือนว่าเขาจะหาทางลงให้ Z for Zachariah ฉบับหนังได้อย่างงดงาม ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
ในนิยายต้นฉบับ พล็อตที่ว่าด้วย ‘เด็กสาวเจ้าบ้านที่ต้องรับมือกับชายแปลกหน้าจอมบงการบนพื้นที่สีเขียวแห่งสุดท้ายในโลกหลังวิกฤตสงครามนิวเคลียร์’ นั้น เป็นการวิพากษ์ ‘สัญชาตญาณการเอาตัวรอดของมนุษย์’ ด้วยท่าทีจริงจังและหม่นมืด อีกทั้งยังเต็มไปด้วยข้อมูลปลีกย่อยทางวิทยาศาสตร์และคริสตศาสนาที่แทรกอยู่เป็นระยะ “เรื่องศาสนามันถูกใส่มาในบทของโมดีตั้งแต่แรกแล้ว ซึ่งผมคิดว่ามันก็น่าสนดีเหมือนกัน เพราะในช่วงเวลาหลังวิกฤตวันสิ้นโลก ผู้คนจะต้องเข้าหาศาสนากันอยู่แล้ว – ซึ่งน่าประหลาดมากที่มันกลับเป็นสิ่งที่ขาดหายไปในหนังวันสิ้นโลกหลายๆ เรื่อง” โซเบลหัวเราะขัน “แต่ผมก็ยังรู้สึกนะว่า ถ้าเรื่องราวมันต้องถูกขมวดให้เหลือแค่การปะทะกันของศาสนากับวิทยาศาสตร์แบบโต้งๆ (เหมือนในต้นฉบับ) มันก็คงจะเป็นหนังที่น่าเบื่อมากสำหรับผม”
ฉะนั้น เมื่อต้องถูกแปลงมาเป็นฉบับหนัง โซเบลและโมดีจึงตัดสินใจลดทอนความตึงเครียดของเส้นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวันสิ้นโลกให้เป็นเพียงแค่ฉากหลัง (setting) และเงื่อนไข (condition) แล้วหันไปขับเน้นปมดราม่าความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครหลักให้เด่นชัดขึ้นมา รวมถึงความขัดแย้งภายในจิตใจของตัวละครเองที่ ‘ไม่อยากอยู่ตัวคนเดียว แต่ก็หวาดระแวงที่จะต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่น’ ด้วย (ซึ่งถือเป็นปมสำคัญที่คอยขับเคลื่อนเรื่องราวในนิยายต้นฉบับอยู่แล้ว) “คือมันจะมีเดิมพันที่มากไปกว่าดราม่าความสัมพันธ์โดยทั่วๆ ไปน่ะครับ หากมองในแง่ที่ว่าเขาอาจเป็นเพื่อนมนุษย์คนสุดท้ายที่เหลืออยู่บนโลกใบนี้” โซเบลแจกแจง
อย่างไรก็ดี ทั้งคู่ยังคงเลือกที่จะเก็บรายละเอียดบางอย่างเกี่ยวกับคริสตศาสนาและวิทยาศาสตร์เอาไว้ เพื่อนำมาสร้างปมขัดแย้ง (conflict) ให้กับเกมความสัมพันธ์เชิงอำนาจของเหล่าตัวละคร ยกตัวอย่างเช่น ความศรัทธาที่แอนน์มีต่อพระเจ้า ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับคนเหมืองอย่างเคเลบ แต่ก็ขัดแย้งโดยสิ้นเชิงกับนักวิทยาศาสตร์อย่างจอห์น เป็นต้น
อนึ่ง ชื่อ Z for Zachariah ของโอไบรอันมาจากแบบเรียนตัวอักษรภาษาอังกฤษฉบับไบเบิ้ลที่แอนน์อ่าน ซึ่งในนั้น ตัวอักษรแรกอย่าง A ถูกแทนด้วย อดัม (Adam) ซึ่งเป็นชื่อของ ‘มนุษย์คนแรก’ ที่พระเจ้าสร้างขึ้น ฉะนั้น ตัว Z ตัวอักษรสุดท้ายที่ถูกแทนด้วย แซกคารายห์ (Zachariah) จึงน่าจะเทียบเคียงได้กับชื่อของ ‘มนุษย์คนสุดท้าย’ นั่นเอง
แม้ว่าเหตุการณ์ในนิยายจะถูกเล่าผ่านมุมมองจากสมุดบันทึกของแอนน์-ลูกสาวเจ้าของฟาร์มวัย 16 ที่ค่อยๆ เติบโตเป็นผู้ใหญ่-ตลอดทั้งเรื่อง (ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลพวงมาจากการที่โอไบรอันเสียชีวิตด้วยอาการหัวใจล้มเหลวในปี 1973 ขณะยังเขียนนิยายเล่มนี้ไม่เสร็จ จนทำให้ภรรยากับลูกสาวต้องมาช่วยกันสานต่อเพื่อให้มันได้ตีพิมพ์ในปีถัดมา) แต่โซเบลและโมดีกลับเลือกถ่ายทอดเรื่องราวในฉบับหนังผ่านมุมมองของทุกตัวละคร แถมยังปรับให้แอนน์เป็นผู้หญิงที่ดูโตกว่านั้น (ร็อบบีที่รับบทนี้อายุ 25 ในขณะนั้น) และสร้างความหลากหลายทางชาติพันธุ์ให้เรื่องเล่าวันสิ้นโลกนี้ ด้วยการเปลี่ยนเชื้อชาติของจอห์น ลูมิส จาก ‘คนผิวขาว’ ให้กลายเป็น ‘คนผิวสี’ อีกต่างหาก
“ในต้นฉบับไม่ได้มีการนำเสนอเรื่องราวผ่านมุมมองของลูมิสเลย เขาเป็นเหมือนกับตัวร้าย (antagonist) ของเรื่องด้วยซ้ำ ซึ่งผมรู้สึกว่ามันไม่ได้เว้นที่ว่างไว้ให้ผู้ชมได้สำรวจตัวละครนี้ซักเท่าไหร่ เขาจึงมีบุคลิกค่อนข้างแบน แล้วการที่เรามีตัวละครในเรื่องอยู่แค่ไม่กี่ตัว แถมหนึ่งในนั้นยังดูเป็นคนเลวอย่างเด่นชัดด้วย มันเลยยากมากๆ ที่เราจะเล่าเรื่องต่อยอดไปได้ไกลกว่านั้น” โซเบลอธิบาย “ผมเลยคิดว่าฉบับหนังคงจะดูน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ถ้าเราลองทำให้พวกเขาเป็นคนที่ดูเป็นสี ‘เทา’ กว่านั้น” ซึ่งนั่นก็ทำให้ไม่มีตัวละครไหนในหนังที่ดูเป็น ‘คนดี’ หรือ ‘คนร้าย’ หมดจดแบบในนิยายเลย
แนวคิดนี้ยังส่งผลไปถึงการเลือกตัดเหตุการณ์ในต้นฉบับที่ให้ภาพของตัวละครในทาง ‘บวก’ หรือ ‘ลบ’ อย่างชัดเจนจนเกินไปอีกด้วย อาทิ ฉากที่จอห์นพยายามล่วงละเมิดทางเพศแอนน์ในห้องนอนของเธอเอง “ในหนังสือ มันคือจุดแตกหักระหว่างคนทั้งคู่ ซึ่งผมไม่อยากเดินตามเส้นเรื่องที่ว่านี้เท่าไหร่ เพราะในหนัง ผมได้สำรวจสภาวะสุ่มเสี่ยงนี้อยู่แล้ว แต่ด้วยวิธีการที่แตกต่างออกไป แล้วผมก็ดีใจนะที่ได้ยินว่ามีคนเข้าใจสิ่งที่ผมกำลังเล่าอยู่ เพราะหนังเรื่องนี้ มันว่าด้วยการที่ผู้หญิงคนหนึ่งยอมให้ผู้ชายที่เธอไม่รู้จักเข้ามาอยู่ในบ้าน ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและน่าขนลุกจนเราสามารถสัมผัสได้ถึงอันตรายอยู่แล้วน่ะ”
เคเลบ เป็นตัวละครที่ไม่มีอยู่ในต้นฉบับ แต่ถูกเพิ่มเติมเข้ามาทีหลังในฉบับหนัง โดยเขาเป็นอดีตคนงานเหมืองผู้บังเอิญรอดชีวิตจากนิวเคลียร์ที่ก้าวเข้ามาในชีวิตของแอนน์หลังจากที่เธออยู่กับจอห์นมาได้สักระยะหนึ่ง เคเลบทำให้แอนรู้สึกประทับใจทั้งในแง่ของรูปลักษณ์ (ที่คล้ายคลึงกับตัวละครจอห์นในนิยาย คือเป็นคนผิวขาวและดูมีเสน่ห์) และความคิด/ความเชื่อ (เขาเป็นหนุ่มบ้านๆ ที่ศรัทธาในพระเจ้า) ในขณะที่จอห์นกลับรู้สึกไม่ไว้วางใจในที่มาที่ไปของชายคนนี้ -ผู้ที่กำลังเข้ามาแทรกกลางระหว่างเขากับแอนน์- ซึ่งก็สอดคล้องกับสิ่งที่โซเบลมองว่า ‘เวิร์ค’ ในต้นฉบับ นั่นคือ ‘การเล่นเกมความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างมนุษย์’ ที่นำไปสู่การเผยมิติที่ซับซ้อนทั้งในเชิงพฤติกรรมและความคิดของแอนน์และจอห์น โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังที่มีเคเลบเข้ามาเป็นตัวแปร จนส่งผลให้จอห์นต้องทำในสิ่งที่แอนน์และผู้ชมคาดไม่ถึง “มันจะเกิดท่าทีประเภทที่ว่า ‘ข้ามาก่อน ข้าก็ต้องมีสิทธิ์มากกว่าสิ’ ซึ่งนี่แหละที่จะทำให้เขาดูมีแรงจูงใจ (motivation) ในการทำเรื่องที่ไม่น่ารักได้อย่างมีที่มาที่ไปมากกว่าในหนังสือ” โซเบลว่า
“คุณอาจสนุกไปกับการเปรียบเทียบ ‘ตำนานสวนเอเดน’ * ผ่านหนังเรื่องนี้ภายใต้มุมมองที่ต่างออกไป โดยตั้งคำถามว่า ‘ใคร’ (ในหนัง) เป็นตัวแทนของ ‘ใคร’ (ในตำนาน) บ้าง” เขากล่าวสรุป “ผมว่ามันน่าสนุกดีออก เพราะเราไม่รู้หรอกว่าใครเป็น ‘งู’ และใครเป็น ‘อดัม’ กันแน่ ซึ่งส่วนตัว ผมโอเคกับหนังสุดๆ ไปเลยนะ เพราะมันเล่าเรื่องแบบเว้นที่ว่าง แล้วปล่อยให้ผู้ชมได้ตีความกันเอง”
* ตำนานสวนเอเดนในที่นี้ คือเรื่องเล่าในไบเบิ้ลว่าด้วย อดัม กับ อีฟ มนุษย์ชาย-หญิงคู่แรกของโลกที่พระเจ้าสร้างมาให้อยู่ร่วมกันในสวนแห่งนี้ แต่พวกเขากลับถูก ‘งู’ (ซึ่งแท้จริงแล้ว ว่ากันว่าเป็นร่างจำแลงของซาตาน) ยุให้กิน ‘ผลไม้ต้องห้าม’ จนทำให้พระเจ้าทรงกริ้วและสั่งเนรเทศให้ทั้งคู่ออกจากสวนเอเดนไปสร้าง ‘เผ่าพันธุ์คนบาป’ กันที่อื่น นับแต่นั้นเป็นต้นมา