เมื่อเจมส์ บอนด์กลับมาโด่งดังทั่วโลกอีกครั้งใน Goldeneye นั่นเป็นทั้งเรื่องดีและเรื่องกดดันสำหรับทีมงานครับ เพราะนั่นแปลว่าทั้งบริษัทออกทุน (MGM) และคนดูต่างคาดหวังในหนังบอนด์ตอนต่อไป ซึ่งคนที่ต้องรับภาระหนักที่สุดก็คือ Michael G. Wilson ลูกเลี้ยงของ Albert R. Broccoli ผู้ล่วงลับ เพราะเขาต้องขึ้นแท่นควบคุมดูแลทุกสิ่งแทน Broccoli ผู้คุมงานหนังบอนด์มากว่า 35 ปี
แต่ก็ยังดีครับที่เขายังมี Barbara Broccoli ลูกสาวของ Albert ที่ร่วมอำนวยการสร้างแบบเต็มตัวกับเขามาตั้งแต่ตอนที่แล้ว ทั้งสองก็ช่วยกันร่วมแรงอย่างเต็มที่เพื่อรักษา “มรดก” ที่พ่อของพวกเขาใช้เวลาทั้งชีวิตสร้างขึ้นมา
งานแรกคือการหาตัวยผู้กำกับ ซึ่งพวกเขาอยากให้ Martin Campbell กลับมารับหน้าที่เดิม แต่ Campbell ได้บอกปฏิเสธเพราะเขาไม่อยากทำหนังบอนด์ 2 ตอนติดๆ กัน จากนั้นพวกเขาก็หันไปติดต่อ Roger Spottiswoode ที่เคยผ่านงานอย่าง Air America มาก่อน และรายนี้ก็ตอบรับทันทีครับ พร้อมทั้งเปิดเผยว่าจริงๆ แล้วสมัยที่ Timothy Dalton ยังเป็นเจมส์ บอนด์นั้น เขาก็เคยได้รับการทาบทามให้ไปกำกับเหมือนกัน
ส่วนงานการเขียนบทนั้น ว่ากันว่าเค้าโครงของเรื่องมีบางส่วนนำมาจากไอเดีย Donald E. Westlake นักเขียนนวนิยายสืบสวนชื่อดัง ส่วนคนลงมือปั่นบทก็คือ Bruce Feirstein เจ้าเดิมจากตอน Goldeneye ซึ่งรายนี้ได้ไอเดียให้ “สื่อเป็นตัวร้าย” เนื่องจากเขาเคยทำงานหนังสือพิมพ์มาก่อน แล้วเขารู้ดีว่าการขายข่าวคือธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดชนิดหนึ่งในโลก อีกทั้งยังทรงอิทธิพลสามารถชี้ทิศทางของเศรษฐกิจและการเมืองได้อย่างน่ากลัวยิ่ง
สำหรับภาคนี้ บอนด์ (Pierce Brosnan) ต้องเผชิญกับวายร้ายแห่งโลกยุคใหม่ ที่ไม่ได้ใช้ระเบิดรบพุ่งหรือยึดโลกด้วยการทำลายอย่างโจ่งแจ้ง แต่จะใช้ “สื่อ” ครับ ไม่ว่าจะสื่อทางข่าวสาร วิทยุโทรทัศน์ทั้งมวล สร้างกระแสเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับตนเอง ถ้าวันไหนไม่มีข่าวใหญ่ๆ ก็จะสร้างข่าวขึ้นมาเอง และตนก็จะเป็นคนเสนอข่าวนี้เป็นแห่งแรก (ก็มันสร้างข่าวเองนี่ครับ ย่อมวางคำพาดหัวไว้ล่วงหน้าได้) พร้อมโกยกำไรงามๆ เข้าบริษัทตน
ตัวร้ายรายนี้คือ เอลเลียต คาร์เวอร์ ซึ่งระยะแรกทีมงานได้ประกาศข่าวที่น่าฮือฮาว่าคนจะมารับบทนี้คือ Anthony Hopkins ซึ่งลุงเขาก็รับเล่นด้วยนะครับ แต่พอเข้าไปร่วมงานได้แค่ 3 วันก็ตบเท้าออกทันที เพราะ Hopkins ไม่ชอบระบบของกองถ่ายเท่าไร เนื่องจากมันไม่มีระบบระเบียบอะไรเลยครับ บทเปลี่ยนได้ทุกเช้า ทิศทางเรื่องก็ผันผวนไปตามแต่ผู้สร้างต้องการ แบบนี้ Hopkins เลยอำลาครับ ทำเอาแฟนๆ เสียดายไปเหมือนกัน แต่ก็ดีที่ทีมงานไปคว้าตัว Jonathan Pryce ดาราเจ้าบทบาทซึ่งก็แสดงได้ร้ายกาจ น่าหมั่นไส้ ชั่วจนน่ารังเกียจได้ดี
ภารกิจของบอนด์คือสืบกรณีพิพาทที่ทะเลจีนใต้ซึ่งอาจจุดชนวนสงครามให้อังกฤษกับจีนพุ่งรบกัน แต่พอสืบไปมาก็พบความจริงว่าเป็นแผนของคาร์เวอร์ที่หมายมั่นจะจุดชนวนสงครามโลกครั้งที่ 3 เพื่อตนจะได้กำไรจากการทำข่าว อีกทั้งยังได้สัมปทานเครือข่ายโทรคมนาคมในจีนอีก 10 ปีด้วย แบบนี้บอนด์ก็ต้องตั้นมันให้หงายเก๋งซักที
Tomorrow Never Dies คือบอนด์ตอนที่เน้นความสนุก เมามันส์ ยิงกันวิ่งบู๊กับอุตลุด ขนาดสาวบอนด์ก็ยังออกแนวบู๊เป็นสายลับจีนชื่อ เว่ย หลิน รับบทโดยซื้อเจ๊สู้ฟัด มิเชลล์ โหยว ที่ออกมาต่อกรกับวายร้ายเคียงบ่าเคียงไหล่บอนด์ ซึ่งในตอนแรกก่อนที่ตัวเลือกจะมาเป็นโหยว ก็มีข่าวลือว่าบทสาวบอนด์จะตกเป็นของ Natasha Henstridge ที่กำลังมาร้อนและมาแรง (ในตอนนั้น) จาก Species อันนี้ก็ไม่รู้ว่ามีคนเสียดายกันมากน้อยแค่ไหนน่ะนะครับ
ตามด้วย Teri Hatcher สาวสวยที่ตอนนั้นเพิ่งดังจากบทหวานใจซูเปอร์แมนในซีรี่ส์ Lois and Clark มาแสดงเป็นปารีส รักเก่าของบอนด์
Joe Don Baker ยังคงกลับมารับบทเป็น แจ็ค เวด CIA ผู้คอยช่วยบอนด์, Judi Dench ในบท M, Desmond Llewelyn ในบท Q และ Samantha Bond กับบทมิสมันนี่เพนนี แต่ละคนก็มาชูรสให้หนังอร่อยได้ครับ โดยเฉพาะ Pryce ที่แสดงเป็นคาร์เวอร์ได้น่ากระทืบสุดๆ
ส่วนพล็อตก็เตือนสติให้สาระเหมือนกันนะครับ ว่าอย่าหลงเชื่อสื่อให้มาก เพราะสื่อสมัยนี้ทำเพื่อผลประโยชน์ก็เยอะ จรรยาบรรณถูกซื้อไปก็มาก เราจึงควรมีวิจารณญาณติดสมองไว้ เพื่อกันไม่ให้คนพวกนี้หลอกลวงชวนเชื่อเอาได้ ยิ่งถ้าเป็นระดับผู้นำหรือผู้บริหารแล้ว จะต้องระวังไม่หลงเชื่อตามข่าวเพียงด้านเดียว ไม่งั้นบ้านเมืองและสังคมจะเกิดความระส่ำระสาย วุ่นวายจนเกินจะยับยั้งได้ แต่เราต้องฟังข่าวให้รอบด้าน ต้องวิเคราะห์ให้เหมาะควรเพื่อหาความจริงหรือสิ่งที่ใกล้เคียงความจริงที่สุด มาเป็นข้อมูลในการตัดสินใจใดๆ
ภาคนี้มาถ่ายทำในประเทศไทยด้วยนะครับ แต่ตามท้องเรื่องนั้นกลายเป็นประเทศเวียดนามไป เนื่องจากกองถ่ายมีปัญหาไม่สามารถเข้าไปถ่ายในสถานที่จริงได้ แต่กระนั้นก็มีเรื่องให้ฮาเล็กๆ เมื่อเรือลำที่พาตัวบอนด์เข้าเมืองเวียดนามนั้น ดันมีตัวหนังสือไทยเขียนหราอยู่เลย 5555
หนังเปิดตัวพร้อม Titanic ครับ แม้จะไม่โกยเงินมากเท่า แต่ก็ทำไปทั่วโลก $333 ล้าน (ทุน $110 ล้าน) เรียกว่าประสบความสำเร็จในระดับที่น่าพอใจ ด้านคำวิจารณ์ก็ออกมาคละๆ กันไปครับ ที่ชอบก็ชอบตรงความเมามันส์ บู๊เว่อร์กับฉากไล่ล่าด้วยรถบังคับมือที่ออกมาสนุกสะใจ ซ้ำยังมีการรีมิกซ์เพลงธีมดั้งเดิมของบอนด์ซะจนเร้าใจยิ่งกว่าเก่า แต่คนที่ไม่ชอบก็ติติงเรื่องความไม่สมจริง จนเนื้อหาเริ่มใกล้สไตล์เบาๆ แบบบอนด์สมัย Roger Moore ของแบบนี้จึงเข้าข่ายลางเนื้อชอบลางยาครับ อยู่ที่ว่าคุณจะเป็นคอบอนด์แบบไหนเท่านั้นเอง
ส่วนผมก็ยังว่าสนุกครับ แอ็กชันก็มันส์ดี การเดินเรื่องก็ค่อนข้าวไว เพลง Tomorrow Never Dies ของ Sheryl Crow ก็มีเสน่ห์ชวนฟังแบบแปลกๆ ดีเหมือนกัน แม้พล็อตจะเบาไปบ้าง หรือฉากไคลแม็กซ์จะไม่อลังการอะไรมากมาย แต่โดยรวมแล้วบอนด์ภาคนี้ก็ยังสนุกไม่ผิดหวัง