Big eyes
Amy Adams ทำหน้าที่ได้ดีสำหรับบท Margaret Keane ไม่ว่าจะซีนรัก ซีนโกรธ ซีนเศร้า ซีนกังวล ซีนอึดอัด ซีนฉลาด หรือซีนโง่ เธอก็ตีบทแตกและทำให้คนดูคล้อยตามเธอได้หมด เธอทำให้คนดูเชื่อและอยากติดตามคอยลุ้นคอยให้กำลังใจเธอตั้งแต่ฉากแรกที่เธอหอบกระเป๋ากระเตงลูกหนีผัวเก่าจนถึงฉากสุดท้ายที่เธอไฟต์กับผัวคนที่สองในศาลฮาวาย
แล้วฉากในศาลคือสนุกมาก เข้มข้นมาก เป็นไคลแม็กซ์ที่ประทับใจสุด จริงๆ Amy Adams นางก็ฟาดของนางนะ แต่เราว่าเหมือนนางถูก Walter Keane กับผู้พิพากษา (James Saito) ขโมยซีนไปหลายช็อตอยู่เหมือนกัน ดังนั้น ถ้าถามความเห็นเราตรงๆ เธอก็ทำได้ดีแหละ
แม้แต่ Margaret Keane ตัวจริงเสียงจริงยังเอ่ยปากชม Amy Adams เองเลยว่า “She portrayed exactly the way I was feeling. I don’t know how she can do it without even saying a word … just a gesture.”
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราก็ไม่เห็นว่าเธอจะดีที่สุดถึงขั้นได้รางวัลลูกโลกทองคำสาขานักแสดงนำหญิง 2015 (แต่เธอก็ได้ไปแล้ว ช่างมันเถอะเนาะ)
ตัวประกอบอื่นๆ ที่เราชื่นชอบ อาจแตกต่างกับตัวละครที่คนอื่นชื่นชอบกัน เพราะนอกจากนางเอกแล้ว คนที่เราชอบในเรื่องนี้เป็นตัวละครหญิงทั้งหมดได้แก่ DeeAnn และ Jane
เราชอบ DeeAnn เพราะเธอเป็นตัวแทนของสาวยุคใหม่ (ในยุคนั้น) ที่กล้าคิดกล้าพูด ฉลาด และมีความเป็นตัวของตัวเองสูง ซึ่งหาได้ยากในสังคมสมัยนั้น
ส่วน Jane ซึ่งเป็นลูกสาวของ Margaret Keane เราชอบทั้งตอนนางยังเป็นเด็กและตอนเป็นวัยรุ่น เพราะเธอก็เป็นตัวแทนของผู้หญิงยุคใหม่เจนฯใหม่อีกเช่นกัน เธอเป็นเด็กที่ฉลาดและเข้มแข็งตั้งแต่เด็ก เชื่อว่าทุกคนก็คงสังเกตได้เหมือนเราจากการพูดการจาของเธอ โตไปเธอต้องเป็นผู้หญิงที่เป็นผู้นำที่ดีของครอบครัวและของสังคมได้แน่ๆ
(แอบคิดขำๆ ว่า ถ้ามี Jane เวอร์ชั่นวัยสาวสะพรั่ง บทนี้อาจตกเป็นของ Amanda Seyfried หรือ Emma Stone เพราะดวงตาเธอได้จริงๆ)
ในส่วนของเนื้อหนัง โดยรวมเราค่อนข้างเชียร์ Big Eyes หนังเรื่องนี้ถือเป็นหนังเรื่องที่ 2 ของปี 2015 ที่เรารู้สึกโอเค (ต่อจากเรื่อง Foxcatcher) และค่อนข้างชอบมากเป็นการส่วนตัว
ความชอบส่วนตัวประการแรกใน Big Eyes คือมันถ่ายทอดประเด็น Feminism ในยุค 1950s ซึ่งในช่วงปี 1950s นั้นยังเป็นยุคที่อเมริกายังไม่มีสิทธิเสรีภาพหรือความเท่าเทียมทางเพศให้กับเพศหญิงเฉกเช่นปัจจุบัน ผู้หญิงถูกปลูกฝังให้เรียนจบออกมาเป็นแม่บ้านอยู่แต่เหย้าเฝ้าแต่เรือนเท่านั้น บริษัทต่างๆ ก็ไม่นิมยมรับผู้หญิงเข้าทำงาน ความสามารถของผู้หญิงยังไม่ได้รับการยอมรับ
ใน Big Eyes เราก็จะเห็นบทบาทสตรีที่ถูกจำกัดดังกล่าวผ่านตัวละคร Margaret Keane ตั้งแต่เป็นลูกสาว เป็นเมีย และเป็นแม่คน ซึ่งเราเองก็เคยเขียนบล็อกเล่าเกี่ยวกับประเด็น Feminism ลักษณะนี้มาก่อนแล้วในบล็อก Mona Lisa Smile: 1950s Feminist ซึ่งเหตุการณ์ในหนังเรื่อง Mona Lisa Smile (2003) นั้นเกิดขึ้นในปี 1953 ไล่ๆ กับเรื่องของ Margaret Keane
นอกจากนี้ เรายังอินกับประเด็น “ลิขสิทธิ” เพราะเราก็เหมือนศิลปินคนหนึ่ง ที่เขียนและเผยแพร่ผลงาน แล้วเคยมีคนขี้เกียจขี้โกงนำผลงานของเรา ทั้งในบล็อกและในทวิตเตอร์ ไปคัดลอกดัดแปลงเป็นของตัวเอง เพื่อนๆ เราที่ทำผลงานของตัวเองด้านอื่นๆ เขาก็โดนขโมยความคิดและผลงานไปหน้าด้านๆ มาหลายคนเช่นกัน จนเป็นสาเหตุให้เราต้องเขียนบล็อก Plagiarism : โจรกรรมทางวรรณกรรม มาแล้ว
ซึ่งเราหวังว่าคนบางกลุ่ม เมื่อดู Big Eyes แล้ว จะเข้าใจจิตใจของคนที่ถูกขโมยเครดิตผลงานและพอจะเกิดจิตสำนึกอะไรขึ้นมาบ้างเกี่ยวกับการขโมยงานที่คนอื่นสร้างสรรค์ไปใช้เป็นชื่อตัวเองของตัวเอง
อาจเป็นเพราะการแสดงของ Christoph Waltz ที่เหมือนจะเล่นล้นไปเสียหน่อย หรือไม่ก็เป็นสไตล์ที่ Tim Burton ต้องการให้ Walter Keane มีคาแรกเตอร์แบบนั้นเพื่อลดความดราม่าของหนัง ตัวละคร Walter Keane ในหนังจึงเป็นเหมือนทั้งพระเอก ตัวร้าย และตัวตลกในคนเดียวกัน (อย่างไรก็ดี เราเชื่อว่า สำหรับ Margaret Keane ในชีวิตจริงนั้น เขาคงเป็นตัวร้ายอย่างเดียวเสียมากกว่า)
เราเกลียดขี้หน้าและหมั่นไส้ในความคุยโวโอ้อวดหรือคำโกหกคำโต (Big Lies) ของ Walter Keane ในขณะเดียวกัน เราก็อดไม่ได้ที่จะชื่นชมในความเฉลียวฉลาดและความสามารถของเขาในการทำผลงานธรรมดาให้ไม่ธรรมดา ทำผลงานที่ไม่มีใครสนใจให้มีคนสนใจ และพลิกชีวิตตัวเองจากหน้ามือเป็นหลังมือ โดยใช้อิทธิพลของเซเลบคนดัง และอิทธิพลของสื่อหรือ mass media เป็นเครื่องมือในการปั่นกระแสให้ตัวเองดังชั่วข้ามคืน
เออ ทุกกลยุทธทางการขาย การพีอาร์ หรือการตลาดที่เขาใช้นั้นน่าสนใจและน่านำมาปรับใช้ในชีวิตจริงของเรานะ (แต่ก็ต้องเป็นไปในทางที่ถูกที่ควรและมีจรรยาบรรณนะจ๊ะ)
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ เราได้เห็นว่าสังคมทุกยุคยุคสมัย จากอดีตจนถึงปัจจุบัน คนในสังคมนิยมเสพสื่อหรือศิลปะตามกระแส ดังนั้นจำนวนคนเสพ ปริมาณการผลิต หรือราคาค่างวดของโปรดักต์ อาจไม่ได้แปรผันตรงหรือการันตีคุณภาพของชิ้นงานนั้นๆ ได้เสมอไป
กล่าวคือ ศิลปะที่คนชอบเยอะๆ มันอาจจะไม่ใช่ศิลปะที่สวยงามในแง่คุณค่า หากแต่คือแฟชั่นที่ผ่านมาและเดี๋ยวก็ผ่านไป แต่ถ้าเราเป็น Margaret Keane ตอนนั้น เราก็ไม่แคร์มากนะว่านักวิจารณ์อาชีพจะกัดจิกผลงานของเราว่าไม่เป็นศิลปะหรือเป็นขยะแห่งวงการศิลปะ เพราะอย่างน้อยมันก็เป็นกระแส มันก็เป็นแฟชั่น และมีคนนิยมชมชอบ ถึงแม้มันจะไม่มีคุณค่านิรันดร์เหนือกาลเวลาเหมือนพระราชนิพนธ์โคลนติดล้อ แต่แฟชั่นมันก็สร้างทั้งเงินและชื่อเสียงให้เรานานพอ…พอที่จะมีกินมีใช้สบายๆ ไปทั้งชีวิต จริงมั้ย?
โดยสรุป “Big Eyes : ติสท์ ลวง ตา” เป็นหนังคุณภาพที่เปิดโลกทัศน์และวิสัยทัศน์ หรือพูดง่ายๆ ก็คือ big lies ช่วยเปิดหูเปิดตาของเราให้เบิกกว้างขึ้นในหลายๆ มุมมอง เช่น ประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ ประเด็นลิขสิทธิ ประเด็นการโปรโมตผลงาน และประเด็นการเสพสื่ออย่างแมสๆ ของคนในสังคม