Cruel Intentions หรือชื่อภาษาไทยว่า ‘วัยร้าย วัยรัก’ เข้าฉายเมื่อต้นปี 1999 พร้อมด้วยเสียงฮือฮาจากผู้ชม โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กมัธยมปลายที่แอบพ่อแม่ดู (เนื่องจากหนังได้เรต R จากความรุนแรงของเนื้อหา รวมทั้งฉากเผ็ดร้อนต่างๆ ที่เราจะกล่าวถึงต่อไป) และแน่นอนที่สุด คือ กลุ่มนักวิจารณ์ภาพยนตร์ที่ต่างมองว่านี่คือหนังตีแผ่ประเด็นเรื่องเซ็กซ์ ตัณหา ราคะ ความเสื่อมโทรมทั้งทางด้านพฤติกรรมและวัตถุนิยมของเยาวชนอเมริกันได้อย่างถึงพริกถึงขิง เต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์และเคมีจากความเข้าขากันของทีมนักแสดง รวมถึงการทำให้ความ ‘แรง’ ออกมาแลดู ‘คูล’ ได้อย่างโคตรจะ ‘Cult’ ในท้ายที่สุด
Cruel Intentions ทำเงินใน Box Office ไปได้ถึง 75.9 ล้านเหรียญทั่วโลก จากต้นทุนการสร้างเพียงแค่ 10 ล้านเหรียญเศษเท่านั้น หนำซ้ำหนังโรแมนติก-ดราม่าวัยรุ่นเรื่องนี้ยังมีการสร้างภาคต่ออีกถึง 2 ภาค ถึงแม้ว่าทั้ง 2 ภาคนั้นจะเป็นภาพยนตร์ในรูปแบบส่งตรงลงแผ่น DVD ก็ตาม (แต่อย่างน้อยก็มีดาราเจ้าบทบาทอย่าง เอมี อดัมส์ โผล่มาร่วมแสดงนำในภาค 2 พอให้เป็นที่เชิดหน้าชูตา)
หนังเรื่องนี้ดัดแปลงมาจากเค้าโครงของหนึ่งในนิยายที่ถูกยกย่องให้เป็นสุดยอดวรรณกรรมความรักสะท้อนสังคมในยุคศตวรรษที่ 18 อย่าง ‘Les Liaisons dangereuses’ ของ Pierre Choderlos de Laclos ในปี 1782 โดยมีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาให้เข้ากับยุคสมัย ใส่รายละเอียดคาแรกเตอร์ตัวละครให้เข้ากับการเป็นหนังวัยรุ่นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ พ่วงด้วยการวางพล็อตเรื่องที่ถือว่าหวือหวาเอาการในขณะนั้น (ปี 1999)
นักแสดงและการรักนอกจอคือเสน่ห์สำคัญ
Cruel Intentions มาพร้อมพลังดารานำระดับที่หากเอ่ยชื่อวัยรุ่นก็พร้อมจะซื้อตั๋วเข้าไปดูอย่าง ซาราห์ มิเชล เกลลาร์ (Sarah Michelle Gellar) ซึ่งมีฐานแฟนคลับที่ค่อนข้างเหนียวแน่นจากทีวีซีรีส์เรื่อง Buffy the Vampire Slayer และ ไรอัน ฟิลลิปเป (Ryan Phillippe) ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องการมีใบหน้าอภิมหาหล่อ และเคยแสดงบทนำกับซาราห์มาแล้วจากหนังสยองขวัญฆาตกรรม I Know What You Did Last Summer ในปี 1997
หนังเรื่องนี้ยังถือเป็นการแจ้งเกิดอย่างงดงามของสองดาวรุ่งพุ่งแรงในวงการฮอลลีวูดอย่าง รีส วิเธอร์สปูน (Reese Witherspoon) ซึ่งก่อนหน้านั้นมีผลงานในวงการมาพอสมควร และ เซลมา แบลร์ (Selma Blair) ที่ได้เข้ามาแคสต์และแสดงหนังเรื่องนี้เป็นเรื่องแรก โดยเฉพาะ รีส ซึ่งได้ไต่เต้าจนกลายเป็นดารานำหญิงเบอร์ต้นๆ ของวงการในเวลาต่อมา
ส่วนอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้แฟนๆ เกิดความ ‘อิน’ และ ‘ฟิน’ ที่สุดในการเสพภาพยนตร์ก็คือ การลุ้นให้คู่พระเอก-นางเอกในจอนั้นสานสัมพันธ์กันต่อในชีวิตจริง กรณีของ ไรอัน ฟิลลิปเป และ รีส วิเธอร์สปูน ทั้งสองได้ทำการคบหาดูใจกันมาระยะหนึ่งแล้วก่อนหน้าที่จะได้มาเล่นบทคู่กันใน Cruel Intentions (ทั้งสองได้พบกันในงานปาร์ตี้วันเกิดของรีส ในเดือนมีนาคม ปี 1997 และได้ทำการหมั้นกันในช่วงปลายปี 1998)
ความ ‘อิน’ นี้ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่แต่อย่างใดสำหรับวงการบันเทิง แต่เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้ผู้ชมได้เติมเต็มความรู้สึกของการเป็นส่วนหนึ่ง ซึ่งร่วม ‘ลุ้น’ และ ‘เชียร์’ ให้ความรักของดาราที่ตนเองชื่นชอบนั้นไปถึงฝั่งฝัน กลายเป็นคู่ตุนาหงันที่เปรียบเสมือนโบนัสหวานๆ ให้แฟนคลับได้ติดตามและคอยให้กำลังใจ อารมณ์เดียวกันกับคู่ของ โรเบิร์ต แพตทินสัน และ คริสเตน สจวร์ต ในมหากาพย์นิยายแวมไพร์ Twilight หรือถ้าเป็นในวงการบันเทิงไทยก็คงประมาณณเดชน์กับญาญ่า อะไรแบบนั้นนั่นเอง
Cruel Intentions ไม่ใช่แค่หนังทีนใสๆ ทั่วไป
เป็นเวลาหลายทศวรรษที่หนังแนววัยรุ่นอเมริกันจะมีเนื้อหาวนเวียนอยู่กับชีวิตสนุกสดใสในไฮสคูล แก๊งลูกคุณหนูสุดหรูรวยเสื้อผ้าแบรนด์ หรือการเกี้ยวพาราสีหาแฟนให้ได้ก่อนงานพรอม ผู้กำกับ โรเจอร์ คัมเบิล (Roger Kumble) เลือกที่จะทำให้ Cruel Intentions กลายเป็นหนังวัยรุ่นที่มาพร้อมความสดใหม่ ทว่าหม่นหมองทางด้านโทนอารมณ์โดยรวม หนักหน่วงทางด้านเนื้อหาและประเด็นเรื่องกามารมณ์ที่ผู้ชมจะไม่มีทางได้สัมผัสในภาพยนตร์แนวเดียวกันนี้อย่าง Clueless, She’s All That หรือ Bring It On
ทั้งนี้ทั้งนั้น Cruel Intentions แฝงเอาไว้ด้วยแง่คิดมากมาย สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองในการเลี้ยงดูบุตรหลานและสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อเยาวชนได้พบกับสิ่งยั่วยุรอบกายในรูปแบบต่างๆ โดยปราศจากวิจารณญาณ แต่หากมองให้ตื้นเขินกว่านั้น (และหากกล้ายอมรับกัน) ทุกสิ่งที่ปรากฏในภาพยนตร์เรื่องนี้มันช่าง ‘เท่’ เสียเหลือเกิน ร่ายยาวมาตั้งแต่คำพูดตัวละคร มาดสวยดุของ ซาราห์ มิเชล เกลลาร์ ในบทบาทของ แคเธอรีน ความเป็นเวอร์จิ้นแมรีผู้เปรียบเสมือนผ้าขาวของนางเอก และลุคแบดบอยบ้านรวยของ ไรอัน ฟิลลิปเป ซึ่งแน่นอนว่าอาจจะทำให้หลายคนหันมาปรับภาพลักษณ์ของตนเองให้กลายเป็นเพลย์บอยผู้มาพร้อมเสื้อผ้าหน้าผมพิมพ์นิยมแมนฮัตตันกันให้พรึ่บ
ตัวร้ายที่ไม่ใช่แบบในละครไทยหลังข่าว
แคเธอรีน เมอร์ทิล ใน Cruel Intentions เคยเป็นหนึ่งในคาแรกเตอร์ที่วัยรุ่นหญิงใฝ่ฝันอยากจะดำเนินรอยตามมากที่สุด (แน่นอนว่ายกเว้นพฤติกรรมการเสพยาเสพติด) เธอมีใบหน้าที่สวยแบบหาตัวจับยาก มีพ่อแม่ที่รวย อาศัยอยู่ในแมนชันสุดหรูกลางนิวยอร์ก มีตำแหน่งประธานโรงเรียนยืนยันเกียรติภูมิความป๊อปปูลาร์ มีชีวิตกินดีอยู่ดีแบบที่ผู้คนเดินดินทั่วไปใฝ่ฝันหา แคเธอรีนนั้นเปรียบเสมือน ปารีส ฮิลตัน (อิวานกา ทรัมป์ หรือ คิม คาร์ดาเชียน) ในเวอร์ชันภาพยนตร์ เธอมีชื่อเสียง มีอำนาจ มีอิทธิพลต่อผู้คนที่เข้ามาในชีวิตเธอ เพียงแต่เธออาจจะเป็นปารีสในเวอร์ชันที่แฝงความ ‘ดาร์ก’ เอาไว้อย่างมากมายภายในก้นบึ้งจิตใจ
ความสำเร็จและก้าวมาเป็นหนังคลาสสิก
Cruel Intentions อาจจะไม่ใช่หนังที่คว้ารางวัลหรือเป็นขวัญใจนักวิจารณ์อะไรมากมายนัก หากว่ากันถึงความสมเหตุสมผลของตัวบท การแสดงของแต่ละตัวละคร หรือเทคนิคในการถ่ายทำต่างๆ อย่างไรก็ดี ภาพยนตร์เรื่องนี้กลับไปได้สวยด้วยผลตอบรับจากกลุ่มผู้ชมทั่วไป ซึ่งเลือกที่จะเสพความดิบ เท่ และมัน ของหนังเรื่องนี้ ดังจะเห็นได้จากการที่หนังเป็นเจ้าของ 2 รางวัล MTV Movie & TV Awards ในปี 2000 (สมทบหญิงยอดเยี่ยม และฉากจูบยอดเยี่ยม โดยอย่างหลังนั้นเป็นฉากบดขยี้ริมฝีปากน้ำลายเยิ้มแนวเลสเบี้ยนของ ซาราห์ มิเชล เกลลาร์ และ เซลมา แบลร์ ซึ่งแน่นอนว่ากลายเป็นหนึ่งในฉากที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุดจนถึงทุกวันนี้)
Cruel Intentions ยังได้ถูกเสนอชื่อเข้าชิงมากถึง 6 รางวัลในงาน Teen Choice Awards ปี 2000 ซึ่งเป็นรางวัลที่อ้างอิงจากผลโหวตของบรรดาวัยรุ่นทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา โดยหนังเป็นผู้ชนะใน 2 รางวัล ซึ่งได้แก่ภาพยนตร์ยอดนิยมประเภทดราม่า และตัวร้ายยอดนิยม (แคเธอรีน)
Soundtrack ที่ยังคงฟังกันทุกวันนี้
การใส่เพลงเข้ามาอย่าง ‘ถูกที่ ถูกเวลา’ นั้นสำคัญเสมอ และเผลอๆ Cruel Intentions อาจจะเป็นหนึ่งในหนังที่ใช้เพลงซาวด์แทร็กได้อย่างเป๊ะและปังที่สุดในยุค 90s ก็เป็นได้
อะไรจะดีไปกว่าการที่แฟนเพลงจะได้เห็นฉากรักอันเร่าร้อน วาบหวิว ทว่าอบอุ่นและเต็มไปด้วยความสิเน่หาของพระเอก-นางเอกโดยมีเพลง Colorblind ของ Counting Crows คลออยู่เบื้องหลัง หรือฉากเปิดเรื่องที่แฟนเพลงแทบจะไม่อยากเชื่อหูตนเองว่าทางทีมงานเล่นใช้เพลง Every You, Every Me ของ Placebo มาแปะ และมันก็เข้ากันได้อย่างไม่น่าเชื่อ ด้วยทั้งเนื้อหาและดนตรี แต่ที่สำคัญที่สุดคือฉากจบ เมื่อความจริงทั้งหมดของแคเธอรีนถูกเปิดโปง ดนตรีออร์เคสตราจากอินโทรเพลง Bittersweet Symphony ของ The Verve และเสียงร้องของ Richard Ashcroft นั้น เป็นสิ่งที่เพอร์เฟกต์ที่สุดเท่าที่คนดูหนังและคนฟังเพลงจะเคยได้สัมผัสจากภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง ร่ายยาวไปถึงการดึงอารมณ์คนดูเพื่อดำดิ่งลงสู่บทสรุปของด้านมืดแห่งจิตใจมนุษย์ด้วยเพลง Secretly ของ Skunk Anansie ในช่วงเครดิตปิดท้ายภาพยนตร์ จนกระทั่งหน้าจอค่อยๆ เฟดหายไป
อัลบั้ม Cruel Intentions : The Original Soundtracks ประกอบไปด้วยเพลงจากศิลปินอัลเทอร์เนทีฟมากมายที่เด็กยุค 90s จะต้องกรี๊ดแบบสิ้นสติ เพลงจากศิลปินอย่าง Blur, Marcy Playground, Fatboy Slim และ Faithless ถูกซื้อลิขสิทธิ์มาใช้ประกอบฉากในภาพยนตร์และอัลบั้มซาวด์แทร็กได้อย่างคุ้มค่าที่สุด และเป็นการตอกย้ำความ ‘คูล’ ของภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างแทบจะไม่ต้องใช้ความพยายาม
หนังที่เปรียบเสมือนด้านมืดของหลายๆ คน
Cruel Intentions อาจจะไม่ได้เป็นหนังบล็อกบัสเตอร์เบอร์ใหญ่ปลายยุค 90s ที่ใครๆ ก็ต้องนึกถึงในแง่ของรายได้ทั่วโลก แต่ภาพยนตร์ทีนเอจดราม่าเจือความนัวร์นี้ได้กลายเป็นหนึ่งในไลฟ์สไตล์ที่เด็ก Generation Y หลายคนอยากจะเป็น แต่ทางพ่อแม่ไม่อนุญาตหรืออยากให้เป็น หนังเรื่องนี้ได้กลายเป็นต้นแบบแห่งความเท่ ความเนี้ยบ และความเย็นชาที่มาพร้อมกับพฤติกรรมที่แหกขนบธรรมเนียมประเพณี แต่จะทำให้คุณเป็นคนที่ถูกยอมรับในแวดวงสังคม และจะทำให้คุณเป็นคนที่ถูกจับตามองที่สุดในโรงเรียนมัธยมปลายหรือมหาวิทยาลัย ซึ่งไม่น่าแปลกใจว่านั่นเป็นสิ่งที่เด็กวัยรุ่นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อหลายคนต้องการ แม้จะต้องถูกมองว่าชั่วช้าสามานย์แค่ไหนก็ตาม
หลายแง่มุมของ Cruel Intentions มาพร้อมกับประเด็นต้องห้าม เป็นประเด็นทางพฤติกรรมที่คนส่วนใหญ่ต้องส่ายหน้าเบือนหนี หากมีผู้คนมากมายคอยจับจ้องอยู่ แต่หากมองเข้าไปภายในก้นบึ้งจิตใจที่แท้ทรู หลายๆ คนย่อมรู้ว่าความ ‘Taboo’ เหล่านั้นมันช่างเย้ายวนชวนให้หลงใหลเสียเหลือเกิน
ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว สิ่งหนึ่งที่ยังจะต้องดำเนินต่อไป แม้ว่าอิทธิพลจากภาพยนตร์จะส่งผลกระทบและก่อให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบมากแค่ไหนในหมู่ผู้ชมก็คือ การใช้วิจารณญาณของคนดูควบคู่ไปกับการเสพสื่อทุกประเภทรอบตัว เพราะจะดีจะชั่ว ทุกอย่างล้วนขึ้นอยู่กับตัวของเราเองทั้งนั้น ถึงแม้คำถามต่อมาซึ่งไม่สามารถมีใครตอบได้ว่ามาตรฐานในการวัดคืออะไร ได้แก่ “ดาร์กแค่ไหนถึงเรียกว่าชั่ว และความชั่วในรูปแบบต่างๆ นั้นไซร้ ใครเล่าเป็นผู้กำหนด?”