คอหนังนั่งเล่า: Third Person คนที่สามของความรัก
ป๋าเลียม นีสัน ขอวางปืน หันมาพิมพ์แป้นคีย์บอร์ดในหนังที่ว่าด้วยเรื่องราวรอยแผลของความรัก ปมในใจ ที่ฝังอยู่ในชีวิตของสามตัวละครหลักใน Third Person ของผู้กำกับ-เขียนบทระดับออสการ์ พอล แฮกกิส จาก Crash
เรื่องราวเกี่ยวกับความรักที่เกิดขึ้นในเมืองใหญ่สามแห่ง ปารีส ไมเคิล นักเขียนรางวัลพูลิตเซอร์ ความสัมพันธ์ที่ยากคาดเดากับแอนนา ซึ่งทับซ้อนมาตั้งแต่ครั้งยังไม่แยกทางกับอิไลนิภรรยาของตน ในนิวยอร์ค จูเลีย ที่พยายามทำทุกทางเพื่อได้ลูกกลับมาอยู่กับตนโดยที่คนเป็นพ่ออย่าง ริค ขัดขวางเพราะมองว่าเธอเคยพยายามจะฆ่าลูกชายของพวกเขา และที่โรม สก็อตต์ มีโอกาสได้รู้จักกับสาวยิปซี โมนิก้า ที่กำลังประสบปัญหาเรื่องลูกสาวที่ตกอยู่ในกำมือของมาเฟียค้ามนุษย์
ชื่อหนังและบทหนังจงใจเล่นคำ ‘Third Person’ ซึ่ง มีไมเคิล จุดศูนย์กลางของเรื่อง มีอาชีพนักเขียนบทประพันธ์ ในแง่การเขียนนิยายมักเลือกใช้มุมมองของบุคคลที่สาม ในการเล่าเรื่องราว (หนังส่วนใหญ่ทั้งวิธีเล่าเรื่องและตัวคนดูก็อยู่ในฐานะบุคคลที่สามเช่น เดียวกัน) นอกจากนี้ยังว่าด้วยเรื่องราวชีวิตของบุคคลสามคน อันได้แก่ ไมเคิล, จูเลีย และ สก็อตต์ ลึกไปกว่านั้นจะเห็นได้ว่าในชีวิตคู่ของตัวละครทั้งสามคนมีบุคคลที่สามเข้า มาแทรก เกี่ยวข้องไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และเมื่อชีวิตคู่มีบุคคลที่สามเข้ามาเกี่ยวข้องก็ย่อมมีปัญหาตามมา
คู่ที่หนึ่ง: ไมเคิล-อิไลนิ-แอนนา
นักเขียนแยกกันอยู่กับภรรยา เธอล่วงรู้ความลับเรื่องนอกใจของสามี แต่เธอเองก็มีปัญหาเกี่ยวกับลูกที่ทำให้สภาพจิตใจไม่แข็งแรงพอ และบุคคลที่สามในชีวิตคู่คือ แอนนา ที่มีสัมพันธ์ลับกับไมเคิลมาตลอดเวลา ความสัมพันธ์ของไมเคิลกับแอนนาเหมือนทีเล่นทีจริง เหมือนใช้เป็นสะพานไปสู่ชื่อเสียง เหมือนต่างคนต่างหลอกใช้อีกฝ่าย บางครั้งเมื่อฝ่ายหนึ่งจริงจังอีกฝ่ายกลับถอยหนี และหลายครั้งที่อีกฝ่ายเย็นชาแต่อีกฝ่ายกลับพยายามงอนง้อ แต่ลึก ๆ คนที่ไมเคิลไว้ใจที่สุดก็ยังคงเป็นอิไลนิภรรยาของตน แต่เขาก็พร้อมจะโป้ปดกับเธอได้ตลอดเวลาไม่ว่าจะยังมีเธออยู่ในชีวิตหรือไม่ ก็ตาม
ใครที่คุ้นเคยป๋าเลียม นีสัน ไล่ยิงคนร้าย อาจลืมไปว่ารากเหง้าเดิมของป๋ามาจากบทดราม่า โดยเฉพาะตัวละครประเภทสีหน้าอมทุกข์ มีความอ่อนไหวซับซ้อนป๋าถนัดนัก และป๋าก็ยังคงทำให้คนดูเห็นอกเห็นใจในตัวไมเคิลอย่างที่ควรเป็น แต่ก็อึ้งกับสิ่งที่ไมเคิลทำ ส่วนแอนนาชู้รักของไมเคิลรับบทโดย โอลิเวียร์ ไวลด์ ที่ทุ่มเต็มตัวในบางฉาก ไวลด์ถ่ายทอดภาพแอนนาที่ยากคาดเดาในความรู้สึก พอ ๆ กับเบื้องหลังชีวิตที่คลุมเครือ และ คิม บาซิงเจอร์ ในบท อิไลนิ อดีตภรรยาไมเคิล หญิงสาวผู้ดูอ่อนล้ากับปัญหาชีวิตและพยายามยืนหยัดต่อไปอย่างยากลำบาก
คู่ที่สอง: จูเลีย-ริค-เจสซี่&แซม
จูเลียมีปัญหากับริค สามีของเธอที่ตอนนี้แยกไปสร้างครอบครัวใหม่กับแซม แต่ปัญหาของเธอไม่ใช่มาจากมือที่สาม แต่เป็นลูกชายของเธอ ริคเชื่อเหลือเกินว่าจูเลียทำร้ายเจสซี่จนเขาไม่ยอมแม้แต่จะให้เธอได้พบหน้าลูก ส่วนแซมแม้จะเป็นบุคคลที่สามแต่ก็เหมือนคนที่เล่นหมากรุก คนที่มองจากวงนอกเข้ามาอาจเห็นภาพที่ชัดเจนกว่า แซมจึงมีความเข้าใจหัวอกคนเป็นแม่อย่างจูเลีย สงสารและเอ็นดูเด็กอย่างเจสซี่ และเห็นใจพ่ออย่างริค
มิลา คูนิส ในบทจูเลีย หญิงสาวที่มีปัญหาชีวิตรุมเร้า และปัญหาลึก ๆ เกี่ยวกับภาวะทางอารมณ์ ในขณะที่ เจมส์ ฟรังโก้ในบทริค ดูออกจะเป็นพ่อที่เข้มงวดของลูก และสามีที่ใจร้ายของภรรยาเก่า นั่นเพราะความไม่ไว้ใจต่อสิ่งที่จูเลียได้เคยกระทำไว้กับเขา บทแซมเป็นของ โลแอน ชาบานอล และ เจสซี่ รับบทโดย โอลิเวอร์ โคซซ์
คู่สุดท้าย: สก็อตต์-โมนิก้า-ลูกของทั้งสอง
ใน คู่สุดท้าย สก็อตต์หนุ่มมะกันผู้มีอาชีพรับซื้อแบบร่างดีไซน์เสื้อผ้าแล้วมาก็อปขาย เขาพบเจอโมนิก้าสาวยิปซีในบาร์เหล้าข้างโรงแรมที่เขาพัก สก็อตต์สนใจโมนิก้า และเริ่มสนทนากันด้วยเรื่องลูกของทั้งคู่ จนกระทั่งภายหลังคนดูจึงรู้ว่าลูกของโมนิก้าอยู่กับมาเฟียค้ามนุษย์ต้องใช้ เงิน และสก็อตต์ยินดีสละเงินของตนให้แก่หญิงสาวที่ไม่มีอะไรน่าเชื่อถือเลย เขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ลูกของโมนิก้ามีจริงหรือไม่ หรือเป็นแผนสมคบคิดหลอกตุ๋นเงิน แต่ถ้ามันเป็นเรื่องหลอกเขาก็เต็มใจจะให้หลอก ก็เพื่อไถ่บาปต่อสิ่งที่เขาผิดพลาดจากกรณีลูกของเขาเองที่เขาได้ละเลย ในกรณีนี้ บุคคลที่สามจึงหมายถึงลูกของสก็อตต์และโมนิก้า ซึ่งคนดูได้แค่รับรู้ว่ามีการพูดถึง แต่ไม่เคยเห็นตัวตน และก็ไม่รู้มีจริงหรือไม่
เอเดรียน โบรดี้ รับบทเป็น สก็อตต์ ด้วยสีหน้าเนือย ๆ กับท่าทางที่เข้ากันดีกับโบรดี้ ผู้เขียนว่าเขาเหมาะจะอยู่ในหนังแบบนี้มากกว่าจะไปเล่นแอ็คชั่นอย่างใน Kingkong ของ ปีเตอร์ แจ็คสัน เสียอีก โมนิก้ารับบทโดย โมราน เอเทียส ดูเป็นผู้หญิงกระด้าง ไม่น่าไว้ใจ และคิดถึงแต่ตัวเอง จนเราคนดูก็ยังอดคลาแคลงใจไม่ได้
หนังค่อย ๆ เล่าเรื่องราวของตัวละครทั้งสาม ซึ่งทั้งสามมีจุดร่วมกันคือ ‘ลูก’ การต้องสูญเสียลูกไปจากอ้อมกอดของตนเอง และมันกลายเป็นบาดแผลในใจที่รอคอยเวลาเยียวยา และวิธีเยียวยาก็เหมือนกับการไถ่บาปต่อความผิดพลาดที่ตนเองเคยทำไว้ และ มันค่อย ๆ เลือนหายไปเมื่อบาดแผลในใจได้รับการเยียวยา หากแต่ก็มีตัวละครที่ยังติดอยู่ในวังวนที่ตนเองสร้างขึ้น จนดูเหมือนสุดท้ายแล้วสิ่งที่ตนเองกระทำไปก็ไม่สามารถเยียวยาจิตใจตนเองได้
พอล แฮ็กกิส ถนัดในวิธีเล่าแบบเรื่อย ๆ ไม่มีจุดพีค แต่มีประเด็นแฝงให้ต้องคิด ยิ่งดูยิ่งต้องตีความ นี่คือหนังที่ผู้เขียนดูจนจบแล้วต้องกลับไปเริ่มต้นดูใหม่ เพื่อหาจุดเชื่อมโยงของตัวละครตัวหนึ่งในหนัง และเมื่อดูซ้ำก็จะพบประเด็นใหม่ตามมาจนไม่รู้ว่าอะไรคือเรื่องจริงและอะไร คือนิยาย
หนังเกี่ยวกับครอบครัวที่ไม่ใช่จะดูกันได้ทั้งครอบครัว เนื่องจากมีเนื้อหา ภาพ และคำพูดที่ไม่เหมาะสมครับ
บางคนลุ่มหลงกับ ‘ความรัก’ จนสร้างวังวนในชีวิตคู่ เพราะดึง ‘คนที่สาม’ เข้ามาแทรกในความรัก ซึ่งเท่ากับทำร้ายความรู้สึกของคนข้างกาย สุดท้ายอาจสายเกินไปที่จะแก้ไข ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ ความเดียวดายในชีวิตของบางคน
“You love love. It's people you don't have time for.
คุณรักความรัก แต่คุณไม่เคยมีเวลาให้คนรัก”