หมวดหมู่ : หนังอาชญากรรม , หนังดราม่า , หนังระทึกขวัญ
เรื่องย่อ : A Prayer Before Dawn นักมวยคุกคลองเปรม (2017) [Soundtrack บรรยายอังกฤษ]
ชื่อภาพยนตร์: Blue, Painful and Brittle สองเรา เจ็บปวด เปราะบาง
ผู้กำกับภาพยนตร์: Jean-Stéphane Sauvaire
ผู้เขียนบทภาพยนตร์:Billy Moore, Jonathan Hirschbein, Nick Saltres
นักแสดง: Joe Cole, Cherry Miko, Vithaya Pansringar
แนว/ประเภท: แอคชั่น, ชีวประวัติ, อาชญากรรม
ความยาว: 1 ชม. 56 นาที
วันเข้าฉาย: 19 พฤษภาคม 2017
เรื่องจริงจาก นักมวยชาวอังกฤษ Billy Moore ผู้ที่ถูกจองจำในเรือนจำคลองเปรม ณ ประเทศไทย ที่ๆเขาจะต้องฝึกฝน มวยไทย เพื่อเอาชีวิตรอดจากความโหดร้ายและรุนแรงในเรือนจำแห่งนี้
IMDB : tt4080956
คะแนน : 6.9
รับชม : 1640 ครั้ง
เล่น : 641 ครั้ง
โดยปกติแล้วการมองประเทศไทยผ่านสายตาของคนทำหนังฝั่งประเทศตะวันตก สิ่งที่เรามักจะเห็นในหนังคือการล่องเรือเหมือนคลิปชิปกับเดลที่เป็นไวรัล บ้านเมืองอันแสนโบราณ หรืออาจเลยเถิดไปจนถึงการเห็นช้างเดินเล่นอยู่ใจกลางเมือง ซึ่งในฐานะคนไทยอย่างเราแล้วก็สามารถเถียงเสียงแข็งได้แทบทันทีว่าเรื่องราวที่อยู่ในหนังไม่ได้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงเลยแม้แต่นิดเดียว กับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในประเทศสารขัณฑ์ของเรา
แต่ทว่าใน A Prayer Before Dawn ผลงานปี 2017 ของผู้กำกับชาวฝรั่งเศส ฌอง-สเตฟาน ซูแวร์ กลับถ่ายทอดเรื่องจริงของ บิลลี มัวร์ ที่เคยติดคุกในคดีลักทรัพย์ในเรือนจำคลองเปรมได้อย่างดิบเถื่อน โกโรโกโส น่าขยะแขยง ลุกลามไปจนถึงคำว่าสะพรึงกลัว จนคว้า Rate R ให้กับเรื่องนี้ได้อย่างไม่ยากเย็นเท่าใดนัก
ที่บอกว่าน่าสะพรึงกลัว ก็เพราะความดิบเถื่อนที่ซูแวร์บอกเล่าให้เห็นในเรื่องนี้ช่างดู ‘สมจริงสมจัง’ สำหรับคุกในประเทศไทยยิ่งนัก เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะหนังเรื่องนี้ได้รับอ้างอิงมาจากบันทึกส่วนตัวในชื่อเดียวกับหนังของ บิลลี มัวร์ ที่ถ่ายทอดความดำทมิฬของคุกไทยที่ครั้งหนึ่งตัวเขาเองได้ใช้ชีวิตอยู่ในนั้นอย่างขมขื่นเป็นอย่างยิ่ง
หลังจากที่ บิลลี มัวร์ (รับบทโดย โจ โคล) ถูกจำคุกในข้อหาลักทรัพย์ ณ เรือนจำคลองเปรมแล้ว สิ่งแรกที่เรื่องนี้พาเราไปรู้สึกพร้อมกับบิลลีที่เพิ่งก้าวขาเข้าห้องตั้งแต่ครั้งแรกเลยคือ ‘การเป็นคนนอก’ ภายในคุก โดยส่วนนี้หนังพยายามอธิบายผ่านสัญลักษณ์ (Symbolic) ทั้งหลายที่ดูเป็นภาษาภาพยนตร์เอามาก ทั้งการที่บิลลีพูดภาษาไทยไม่ได้จึงถูกกลั่นแกล้ง เนื้อตัวขาวสะอาดปราศจากรอยสักใดๆ รวมไปถึงความเป็น ‘เด็กใหม่’ ที่พร้อมจะถูกรุ่นพี่ในคุกต่างโขกสับรับน้องกันอย่างสนุกสนาน ซึ่งในช่วงนี้หนังก็ถ่ายทอดความรู้สึกอันแสนจะอึดอัดของบิลลีที่ดันทำงานกับผู้ชมแบบเราเข้าอย่างจัง ถึงความรู้สึกที่ต้องมาอยู่ในระบบที่ดูเหมือนว่าไม่มีความหวังสักน้อยนิดที่จะรอดพ้นไปได้ในแต่ละวัน มันสิ้นหวังจนไม่สามารถคิดต่อได้เลยว่าถ้าเราต้องตกอยู่ในสถานการณ์แบบนั้นจริง เราคงรู้สึกไม่ต่างอะไรกับการ ‘ตกนรกทั้งเป็น’ ในประเทศไทยเช่นเดียวกันกับบิลลี
แต่ความกลมกล่อมของเรื่องที่น่าสนใจสำหรับเราคือการได้เห็นพัฒนาการของบิลลีที่ยังกัดฟันและดิ้นรนในสังคมคนคุกนี้ด้วยการหาพรรคหาพวก เริ่มรู้จักระบบส่วยที่ใช้ในการต่อรอง รวมไปถึงยาเสพติดที่เป็นเหมือนเครื่องมือช่วยหาเพื่อนที่ดีสำหรับคนคุกในนั้น ซึ่งถึงตรงนี้หนังพาอารมณ์ของเราให้รู้สึกสนุกไปกับวิธีการเอาตัวรอดของคนนอกที่พยายามปรับตัวและกลมกลืนไปกับสังคมคนคุก ว่าสุดท้ายแล้วมันจะได้ไปสักกี่น้ำ
ในส่วนนี้นอกจากจะอาศัยการแสดงของ โจ โคล ถ่ายทอดภาวะอันดิ้นรนผ่านใบหน้าบึ้งตึงตลอดเวลาของบิลลีแล้วนั้น สิ่งที่เราชื่นชมเป็นอย่างมากคือการสร้างบรรยากาศของสังคมข้างในคุกได้อย่างเอาจริงเอาจังกันถึงที่สุด นี่อาจจะเป็นข้อดีเป็นอย่างมากที่ซูแวร์เลือกนักแสดงที่เคยติดคุกจริงอย่าง เก่ง ลายพราง และคนอื่นๆในเรื่องอีกหลายคน มาร่วมฉาก เพราะนอกจากจะได้การแสดงอันเป็นธรรมชาติแล้ว บรรยากาศอันสมจริงเหล่านี้จะคอยกระตุ้นความน่ากลัวของชีวิตหลังลูกกรงได้อยู่เป็นระยะ
แต่ถ้าเราขยับตัวห่างออกจากเส้นเรื่องของบิลลีสักนิดหนึ่ง ก็จะรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้ดีมากตรงที่มันวิจารณ์เรื่องราวของระบบเรือนจำผ่านคนที่อยู่ในนั้นจริงๆ ได้เป็นอย่างดี การพาเราไปดูกิจวัตรต่างๆ ของคนในนั้นว่าทำอะไรบ้าง เช่น การที่ปล่อยให้นักโทษเข้าไปอาบน้ำข้างใน ที่จริงๆ แล้วก็ไม่มีวันรู้หรอกว่าคนพวกนี้อาบน้ำกันอย่างเดียวหรือเปล่า หรือเวลาปิดไฟเข้านอนแล้วเราก็ไม่รู้ว่าคนพวกนี้จะข่มตาหลับตลอดคืนกันจริงๆ หรือไม่
นี่จึงทำให้กิจวัตร (ที่แท้จริง) เหล่านี้ดูน่าตื่นตาตื่นใจสำหรับคนที่เพิ่งเคยได้เห็นอย่างเรา รวมไปถึงการได้เห็นระบบข้างในที่ดูผุพัง เกิดการแบ่งพรรคแบ่งพวกที่ลุกลามไปถึงเจ้าพนักงานบางคนที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องราวสีเทาด้วย ถึงตอนดูเราจะรู้สึกสนุกก็เถอะ แต่พอมานั่งคิดดูแล้ว พอมีอะไรแบบนี้เกิดขึ้นในประเทศของเรามันก็ช่างน่าใจหายเสียจริง
ความรุนแรงที่แก้ไขด้วยความรุนแรง
แต่ตามที่ บิลลี มัวร์ เขียนไว้หนังสือ สิ่งที่ฉุดกระชากเขาให้หลุดออกมาจากนรกขุมนี้จริงๆ กลับเป็น ‘มวยไทยในคุก’ ด้วยพื้นเพที่เขาเป็นนักชกใต้ดินหาเงินไปวันๆ มาก่อน การเข้ามาอยู่ในสังคมที่รุนแรงแบบนี้ย่อมนำไปสู่การทะเลาะวิวาทอยู่เป็นระยะซึ่งเราจะเห็นได้ภายในเรื่อง
นั่นจึงทำให้จุดเปลี่ยน (Turning Point) ของทั้งบิลลีและตัวหนังเอง คือการเปลี่ยนที่ระบายความรุนแรงจากใบหน้าของเพื่อนร่วมห้องขังมาสู่การล่อเป้าในสังเวียนมวยในที่สุด ซึ่งในส่วนของหนังเองก็ได้นักมวยชื่อดังอย่าง สมรักษ์ คำสิงห์ มารับบทครูมวย รวมไปถึงนักแสดงสมทบอย่าง คมสัน พลแสน แชมป์มวย WBC เอเชีย ในบท ปฐมศึก, ศักดา เนียมหอม ยอดนักมวยไทยไฟต์ ในบทไทรโยค และ เฉลิมพล สวัสดิ์สุข แชมป์มวยสากลแห่งสหพันธ์มวยแห่งเอเชีย รับบทเป็นเอ็ม โดยเฉพาะรายหลัง ชีวิตจริงเขาคือนักมวยที่เคยต้องโทษจำคุกและได้รับโอกาสฝึกชกมวยแบบในเรื่องจริงๆ อีกด้วย
ทั้งคุกทั้งหนัง ต่างเอาจริงเอาจังเหมือนกันหมด
เพราะไม่เพียงแค่บรรยากาศของคุกไทยที่ซูแวร์ตั้งใจเนรมิตรออกมาให้ดูดิบเถื่อนและสะพรึงจิตเพียงอย่างเดียว แต่ตัวหนังเองก็เอาจริงเอาจังถึงขั้นได้เข้าฉายรางวัลใหญ่มาแล้ว
เพราะหลังจากที่เคยพาหนังเรื่องเก่า Johnny Mad Dog (2008) เข้าชิงสายรางวัล Un Certain Regard Award ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ 2008 มาแล้ว ผลงานเรื่องนี้เขาเองก็ปลุกปั้นจนได้เข้าไปฉายในช่วง Midnight Screening ในงานเดียวกันเมื่อปี 2017 ซึ่งผลตอบรับที่ออกมาก็เป็นที่น่ายินดีกับซูแวร์เป็นอย่างมาก เพราะในวันนั้นผู้ชมต่างยืนปรบมือให้กับหนังหลังจบไปแล้วนานถึง 10 กว่านาทีด้วยกันเลยทีเดียว
สุดท้ายแล้วนี่คงเป็นการหยิบยืมภาพยนตร์มาใช้เป็นสื่อเพื่อตีแผ่ ‘ความจริง’ ของสังคมใต้ลูกกรงได้ดีมากอีกชิ้นหนึ่ง เพราะนอกจากจะเป็นการถ่ายทอดความเป็นไทย (ถึงแม้จะเป็นอีกด้านที่ไม่น่าชมเท่าไหร่) ที่ถูกต้องให้คนภายนอกได้เห็นและเข้าใจแล้ว ตัวหนังเองก็ยังทับซ้อนเรื่องราวของความอ่อนแอในระบบเรือนจำออกมาได้อย่างตรงไปตรงมาและดูชัดเจนได้เป็นอย่างดี