ดูหนังออนไลน์
ค้นหาหนัง

Rashomon ราโชมอน (1950) พากย์ไทย บรรยายไทย

Rashomon ราโชมอน (1950) พากย์ไทย บรรยายไทย
Youtube Video

หมวดหมู่ : หนังอาชญากรรม , หนังดราม่า , หนังลึกลับซ่อนเงื่อน

เรื่องย่อ : Rashomon ราโชมอน (1950) พากย์ไทย บรรยายไทย

 ชื่อภาพยนตร์ : Rashomon  ราโชมอน
แนว/ประเภท : Crima,  Drama,  Mystery
ผู้กำกับภาพยนตร์ : Akira Kurosawa
บทภาพยนตร์ : Akira Kurosawa,  Ryûnosuke Akutagawa
นักแสดง : Toshirô Mifune,  Machiko Kyô,  Masayuki Mori
วันที่ออกฉาย : 26 August 1950
 
 
 
 
เรื่องย่อ  ราโชมอนเป็นหนังปี 1950 ซึ่งเป็นหนังที่ทำให้ คุโรซาว่ามีชื่อเสียงทันที และเป็นหนังที่ทำให้วงการญี่ปุ่นเป็นที่จับตามองของชาวโลก
 
หนังเรื่องราโชมอนนั้นว่าด้วยเรื่องการฆาตกรรมซามุไร ซึ่งภายหลังสามารถจับโจรป่าผู้ต้องสงสัยว่าฆ่าซามูไรได้ และทางเจ้าเมืองก็ได้ให้มีการไต่สวนขึ้น ซึ่งมีคนที่ให้การสามคน คือ ตัวโจรป่า ภรรยาของซามูไร และวิญญาณของซามูไรเอง ซึ่งเรื่องราวทั้งหมดได้รับการเล่าผ่านจากปากของคนตัดฝืนซึ่งเป็นคนที่ไปพบศพของซามูไรเป็นคนแรก โดยมีผู้ฟังคือพระรูปหนึ่งที่ได้ไปขึ้นศาลและคนที่แปลกหน้าที่ผ่านมาหลบฝน ซึ่งคนแปลกหน้าที่เข้ามาหลบฝนนี่แหละที่ทำให้ความจริงนั่นถูกเปิดเผยมา

สิ่งที่ทำให้หนังนี้ชวนติดตามคือ คำให้การของทั้งสามคนนั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โจรป่าก็อ้างว่าตนเองนั่นแหละที่ฆ่าซามูไร เพราะภรรยาของซามูไรท้าตนให้ดวลดาบกับซามูไรเพื่อปกป้องเกียรติของเธอ ส่วนภรรยาของซามูไรก็อ้างว่าตนนั่นแหละที่เป็นคนฆ่าสามีเอง เพราะทนกับสายตาที่สามีดูถูกเหยียดหยามว่าเธอนั่นโดนข่มขืนไม่ได้ และวิญญาณของซามูไรให้การว่าไม่ได้มีใครฆ่าเขาหรอก เขาต่างหากละที่ฆ่าตัวตายเอง เพราะทนไม่ได้ที่ภรรยาจะทรยศและหนีไปกับโจรป่า

จากคำให้การของทั้งสามคน หากคุณได้ฟังแล้วคุณจะเชื่อใครละ? และคุณคิดว่าใครผิดและสมควรโดนประหาร?
 
 
26 | Rashomon (1950) - A-BELLAMY | วิจารณ์หนัง,รีวิวหนัง,วิเคราะห์หนัง
 

IMDB : tt0042876

คะแนน : 8.2

รับชม : 3686 ครั้ง

เล่น : 1459 ครั้ง



 

Rashomon (1950 , Akira Kurosawa) : ราโชมอน , Directed by Akira Kurosawa

หนึ่งในสุดยอดผลงานอมตะของ อากิระ คุโรซาว่า ผู้กำกับชั้นครูชาวญี่ปุ่น ที่เป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจในการสร้างผลงานของผู้กำกับหลายคนในปัจจุบัน โดยมีชื่อเสียงมาจากภาพยนตร์ที่มักเล่าเรื่องในยุคซามูไร เช่น Seven Samurai (1954) , Yojimbo (1961) , Ran (1985) ที่ล้วนเป็นผลงานสุดคลาสสิค และสามารถนำมาใช้ศึกษากันได้ทุกยุคทุกสมัย

 

 



Rashomon เป็นภาพยนตร์แนวสืบสวนดราม่า ที่ดัดแปลงมาจากเรื่องสั้นของ ริวโนสุเกะ อาคุตางาว่า ที่ประพันธ์ไว้เมื่อปี ค.ศ. 1915 โดยนำเอานิทานที่เล่าสืบต่อกันมาจากปากต่อปากเป็นโครงเรื่องหลัก และสอดแทรกคำสอนทางศาสนาลงไปในเรื่องดังกล่าว ซึ่งคำว่า "ราโชมอน" ที่หมายถึง "ประตูผี" มาจากชื่อของประตูเมืองเกียวโตในยุคสมัยเฮอัง หรือราวๆปี ค.ศ. 794 - 1185 ที่ถูกใช้เป็นที่ทิ้งซากศพของผู้ยากไร้ และเป็นแหล่งซ่องสุมของพวกโจรหัวขโมย

หนังเล่าเรื่องราวของคดีฆาตกรรมและข่มขืน ผ่านคำบอกเล่าของคนที่อยู่ในเหตุการณ์ โดยมีทั้งโจร เจ้าทุกข์ ผู้ตาย และคนตัดฟืน ที่ต่างก็ล้วนเล่าเรื่องราวแตกต่างกันไป และมีจุดจบที่ไม่เหมือนกัน หนังเปิดเรื่องขึ้นด้วยการสนทนาของชายสามคน ที่มานั่งหลบฝนกันใต้ประตูเมือง "ราโชมอน" โดยมีพระและคนตัดฟืนที่เคยพบเห็นจำเลยกับเจ้าทุกข์ เป็นคนเล่าเรื่องราวผ่านคำบอกเล่าของพวกเขาในชั้นศาล ให้กับชาวบ้านคนหนึ่งที่มาร่วมหลบฝนได้ฟัง นั่นจึงนำไปสู่การสนทนาเพื่อถกหาความจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนั้น

ถือเป็นการนำเสนอที่แปลกใหม่ทีเดียว เมื่อเทียบกับยุคสมัยที่ได้สร้างผลงานชิ้นนี้ ซึ่งแม้ว่าจะเคยถูกประพันธ์เป็นเรื่องสั้นมาก่อน แต่ Rashomon ก็ถือเป็นภาพยนตร์ต้นแบบ ที่พล็อตเรื่องดำเนินตามมุมมอง และบอกเล่าเรื่องราวของตัวละครที่แตกต่างกัน เทคนิคเหล่านี้ล้วนถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ซึ่งหนึ่งในนั้นที่โด่งดังเลยก็คือ The Usual Suspects (1995) เป็นการบอกเล่าเหตุการณ์ขณะสืบสวนผ่านตัวละครอย่าง Kevin Spacey ที่มีทั้งจริงและเท็จรวมอยู่ด้วย หรือในหนังเอเชียเรื่อง Hero (2002) ของจางอี้โหมว ก็ใช้เทคนิค Flashback เล่าย้อนจริงเท็จนี้ด้วยเช่นกัน

การเลือกใช้ตัวละครในเรื่องถือได้ว่าครบเครื่องและครอบคลุม ที่มีทั้งบทบาท หน้าที่ ฐานะทางสังคม และจิตใต้สำนึกที่แตกต่างกันออกไป เช่น โจร เป็นตัวแทนของความชั่วร้าย , ผู้หญิง เป็นตัวแทนของความอ่อนแอ , ซามูไร เป็นตัวแทนของความมีเกียรติ(และหยิ่งในศักดิ์ศรี) , พระ เป็นตัวแทนของความดี(ที่ยังคงเชื่อและศรัทธาในตัวมนุษย์) ชาวบ้าน เป็นตัวแทนของคนที่ต้องดิ้นรนต่อสู้(ในยุคสมัยที่เต็มไปด้วยความเสื่อมโทรมทางศีลธรรมของสังคม) เราจะเห็นได้ว่าจากการที่หนังเลือกให้ตัวละครทั้งสามคน มาถกหาความจริงของเรื่องราวทั้งหมด ภายใต้ประตูเมืองเก่าที่เต็มไปด้วยซากปรักหักพัง ในชื่อ "ราโชมอน" ก็เปรียบได้กับยุคสมัยที่บ้านเมืองเต็มไปด้วยความเสื่อมโทรม และแสดงให้เห็นถึงสัจธรรมของมนุษย์ ที่มีทั้งดีและเลวอยู่ในตัว ไม่ต่างกับเรื่องเล่าของเหตุการณ์ในวันนั้น ที่ทุกคนล้วนโกหก และเต็มไปด้วยการเติมแต่งให้ตัวเองดูดี


ฉากการสอบสวนในศาล ก็ถือเป็นอีกหนึ่งเทคนิคที่หนังเลือกใช้ได้ดีทีเดียว โดยไม่ทำให้เห็นว่าเป็นการใช้ฉากหรือตัวละครอย่างสิ้นเปลือง ทั้งยังกลับสามารถทำประโยชน์เพิ่มเติมในช่องทางอื่นได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งเมื่อลองนับดูแล้วตลอดระยะเวลาทั้งเรื่องเกือบ 90 นาที หนังใช้ตัวละครที่ออกมาให้เราเห็นเพียง 8 ตัวเท่านั้น ซึ่งฉากการสอบสวนในศาลที่ว่านี้ จุดที่น่าสนใจเลยก็คือ หนังไม่ใช้ตัวละครอย่างเจ้าเมืองหรือผู้รักษากฎหมายออกมาให้เราเห็นเลย แต่กลับถ่ายหน้าตรงๆของตัวละครให้พูดคุยกับเราแทน เปรียบเสมือนให้คนดูเป็นคนพิพากษาซะเอง ว่าเรื่องราวทั้งหมดที่แต่ละคนเล่ามาเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน ใครกันแน่ที่เป็นคนพูดจริงและใครกันแน่ที่เป็นคนพูดโกหก การถ่ายทำในลักษณะนี้มีให้เห็นในหนังสารคดีของไทยเรื่อง The Master ที่กำกับโดย เต๋อ นวพล แต่นั้นไม่ใช่การนั่งสอบสวนเพื่อจับผิดหาข้อเท็จจริง เพียงแต่เป็นเทคนิคให้เหมือนกับว่าตัวละครกำลังสื่อสารกับผู้ชมนั่นเอง

การสลับกลับมาเล่าเรื่องในเหตุการณ์ปัจจุบัน ที่ชายสามคนกำลังนั่งถกเพื่อหาความจริง จึงเปรียบเสมือนเป็นการฟังความคิดเห็น ของผู้ที่ตกอยู่ในสภาพแวดล้อมและยุคสมัยที่เต็มไปด้วยความเสื่อมโทรม โดยผ่านทางทัศนะของตัวละครชาวบ้าน ที่เป็นตัวแทนของผู้คนที่ต้องดิ้นรนเอาตัวรอด และเลือกวิถีที่จะใช้ชีวิตไปพร้อมกับความเน่าเฟะ โดยไม่เกี่ยงศีลธรรมใดๆ การโกหกและเห็นแก่ตัวจึงกลายเป็นเรื่องธรรมดาในสายตาที่ทำให้เห็นกันทั่วไป

แม้ในเรื่องจะใช้เพียงฉากเดิมๆ หรือมีตัวละครออกมาให้เห็นอยู่ไม่กี่ตัว แต่การที่หนังสามารถเล่าเรื่องได้หลากหลาย และทำให้น่าเชื่อต่อทุกบทบาทที่ตัวละครเล่ามา ก็ให้ทั้งความเกินคาด และคอยตรึงอารมณ์คนดูอยู่กับเรื่องราวทั้งหมดได้อย่างเพลิดเพลิน

สรุปแล้ว Rashomon แม้จะเป็นหนังที่พูดถึงคดีความเล็กๆ แต่ก็แฝงไปด้วยหลักคำสอน ค่านิยมมนุษย์ และความเป็นจริงที่มีอยู่ในสังคมทุกยุคทุกสมัย ในมุมมองของการเป็นภาพยนตร์ ก็มีคุณค่าทางศิลปะและความบันเทิงอยู่ครบครันเช่นเดียวกัน เหมาะสมกับการเป็นแบบเรียน ไม่เพียงเฉพาะในรายวิชาภาพยนตร์ แต่ยังสามารถนำมาใช้ศึกษา และสอนในด้านคุณธรรมจริยธรรมได้กับทุกที่ทุกองค์กรอีกด้วย