ดูหนังออนไลน์
ค้นหาหนัง

หลวงพี่เเจ๊ส 5G Luang-Pee Jazz 5G (2018)

หลวงพี่เเจ๊ส 5G Luang-Pee Jazz 5G  (2018)
Youtube Video

หมวดหมู่ : หนังตลก , หนังไทย

เรื่องย่อ : หลวงพี่เเจ๊ส 5G Luang-Pee Jazz 5G (2018)

ชื่อภาพยนตร์ : หลวงพี่เเจ๊ส 5G Luang-Pee Jazz 5G
แนว/ประเภท : Comedy
ผู้กำกับภาพยนตร์ : Poj Arnon
บทภาพยนตร์ : Poj Arnon
นักแสดง : Kunatip Pinpradub,  Padung Songsang
วันที่ออกฉาย : 5 April 2018
 
 
 
 
หลวงพี่แจ๊ส 5G เป็นภาพยนตร์ตลกธรรมะที่เล่าเรื่องของหลวงพี่แจ๊สที่ออกไปธุดงค์อยู่ต่างจังหวัดกว่า 2 ปี ก่อนที่หลวงพี่จะต้องมาพัวพันกับการพยายามตามหาพ่อให้สามเณรที่มีคนมาฝากเลี้ยงไว้ตั้งแต่เกิดในวัดต่างจังหวัดแห่งหนึ่ง หลวงพี่แจ๊สและลูกศิษย์ทั้งสองพร้อมสามเณรจึงต้องเข้ากรุงเทพอีกครั้ง ก่อนจะพบเรื่องราววุ่นวายมากมายรอบตัวเต็มไปหมด
 
ผ่านเซ็นเซอร์แล้วนะจ๊ะ ดูเลยตัวอย่างหนังหลวงพี่แจ๊ส 5G

IMDB : tt9136292

คะแนน : 3.4

รับชม : 3223 ครั้ง

เล่น : 1071 ครั้ง



 

ใช่แล้วครับ เรากำลังพูดถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ “หลวงพี่แจ๊ส 5G” หนังภาคต่อจากภาค “4G” ที่ทำรายได้จากการฉายในโรงถล่มทลายเกือบสองร้อยล้านบาท (ถ้าตัวเลขไม่ผิด ก็คือ 162 ล้านบาท!) ซึ่งต้องบอกว่า รายรับระดับนี้ มีก็แต่หนังจากเมืองนอกระดับบล็อกบลัสเตอร์เท่านั้นที่พอจะฝันได้ ส่วนหนังไทย … ไม่ใช่ดูแคลน … เดี๋ยวนี้ที่มีได้หลักหมื่นหลักแสน ก็หลายเรื่อง

ถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะบอกว่า ก็หลวงพี่แจ๊สเอาโรงฉายและรอบฉายไปเสียหมดอย่างไรล่ะ รายได้ก็เลยมาก… เหตุผลข้อนี้ก็ส่วนหนึ่งนะครับ และต้องยอมรับว่า ภาคก่อนหน้านี้ คือภาค 4G หลวงพี่แจ๊สยังเป็นอะไรที่ใหม่หมาด คนบางคนอาจจะยังอยากชิมรสชาติ ต่อเมื่อได้ชิมแล้ว เชื่อว่าภาคที่สองนี้จะเป็นภาคตัดสินว่า การได้โรงฉายมากๆ เยอะๆ จะส่งผลเหมือนเดิมไหม เพราะหลายคนบอกชัดเจนว่าไม่เอาแล้ว

แต่จริงๆ ตรงนี้จะไปว่าโรงหนังอย่างเดียวก็ไม่ถูกต้องเท่าไหร่ครับ เพราะเขาทำธุรกิจ แล้วเขาก็คงวิเคราะห์ทิศทางหรือดูข้อมูลกันแล้วว่าหนังเรื่องไหนจะทำเงินไม่ทำเงิน ถ้ามันมีสิทธิ์จะทำเงิน เขาก็เทโรงทุ่มรอบให้ เป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าถึงวัน มันไม่มีคนดู เขาก็เทออกเหมือนกัน หนังแต่ละเรื่องก็มีโอกาสเจอเหตุการณ์อย่างนี้เหมือนกัน

และขอเล่าจากเหตุการณ์จริงสักนิด รอบที่ผมดูวันพฤหัสบดีนี้ ก็มีคนตีตั๋วเข้าไปชมเยอะเหมือนกัน คำนวณก็ประมาณครึ่งโรงได้ ผมก็พยายามสังเกตปฏิกิริยาของคนอื่นๆ เหมือนกัน อย่างน้อยๆ นี่เป็นหนังตลก สิ่งที่เราพอจะจับสังเกตได้ก็คือ ถ้ามันตลก ก็ย่อมจะมีเสียงหัวเราะ แต่ถ้ามันไม่ตลก มันก็จะ “กริบ” … เดี๋ยวอีกสักหน่อย ผมจะมีคำตอบให้ …

 

ว่ากันที่ตัวเรื่อง ว่าหลวงพี่แจ๊สภาคนี้เล่าเรื่องอะไร?

โดยไอเดียความคิด ผมเชื่อว่า ผู้กำกับอย่างพจน์ อานนท์ นั้น ต้องการสะกิดสะเกาประเด็นเนื้อหาเกี่ยวกับศาสนาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว การให้ตัวละหลักเป็น “พระ” (หลวงพี่แจ๊ส) นั่นก็คือต้องการจะพูดถึง “สิ่งที่เห็นและเป็นอยู่” ในศาสนาพุทธแน่นอนแล้ว เหมือนภาคที่ผ่านมา ที่หนังพาเราไปพบไปสัมผัสกับเรื่องราวในแวดวงพุทธจักร ผ่านมุมมองของคนทำหนังที่ออกตัวไว้ตั้งแต่ต้นว่า ไม่ได้ตั้งใจล้อเลียนหรือทำให้เสื่อมเสีย แต่มุ่งเน้นให้เกิดความบันเทิง และมีคติสอนใจไปด้วยในขณะเดียวกัน คือตามแนวถนัดของพจน์ อานนท์ จะให้เขาลุกขึ้นมาเทศนาเรื่องนั้นเรื่องนี้ ผมว่าก็ไม่เหมาะหรอกครับ เพราะลำพังแค่พูดหรือโพสต์อะไรนิดๆ หน่อยๆ ในโซเชียล บางทียังถูกรุมสะกรำแทบไม่เหลือเป็นตัวเป็นตน ดังนั้น ก็พูดและเล่าผ่านภาพยนตร์นี่ล่ะ

… ภายหลังจบภารกิจในภาค 4G หลวงพี่แจ๊สก็ออกจากวัดในเมืองใหญ่ ด้วยหวังจะปลีกวิเวกปฏิบัติธรรมในพื้นที่ต่างจังหวัด โดยไปปักกลดอยู่บนเกาะเล็กๆ ที่ห่างไกล แต่ก็มีเรื่องอีกจนได้ เมื่อพระอาจารย์ที่นับถือรูปหนึ่งได้ไหว้วานให้หลวงพี่แจ๊สพาสามเณรน้อยรูปหนึ่งไปตามหาพ่อในกรุงเทพฯ หลวงพี่แจ๊สก็ต้องรับอาสาไปทำภารกิจดังกล่าวอย่างเลี่ยงไม่ได้ และการไปเมืองหลวงครั้งนี้ ก็ทำให้หลวงพี่ได้พบกับเหตุการณ์น่าสงสัยในวัดใหญ่วัดโต จากพฤติกรรมของคนใหญ่คนโตภายในวัด

อย่างที่บอกครับว่า ในเนื้อหาใจความสำคัญๆ ที่พจน์ อานนท์ พยายามสื่อสารผ่าน “หลวงพี่แจ๊ส” คือเรื่องราวในพุทธจักรร่วมสมัย เท่าที่จับใจความได้ คือหนังเน้นพูดเรื่อง “ศรัทธา” ที่ควรต้องมาควบคู่กับปัญญา เพื่อเลี่ยงให้พ้นความงมงาย ในหนังตั้งแต่ภาคที่แล้ว เราจะได้เห็นพวกกิจกรรมแห่งศรัทธาที่พอตรวจสอบไปตรวจสอบมา มันเป็น “กิจกรรมลวงโลก” ให้พวกที่อาศัยศาสนาหรือผ้าเหลืองหรือความไม่รู้ของคนในการประกอบทำมาหากิน และพอมาในภาคนี้ … 5G หนักข้อขึ้นไปอีก เพราะหนังไม่ได้เล่นแค่ “ร่างทรง-องค์เก๊” แต่ยังแตะไปถึงระดับ “บิ๊ก” ของวงการ … เป็นคนที่คุณก็นึกออกว่าคือใคร เมื่อได้ดูหนัง

ในเชิงประเด็น ผมมองเห็นความปรารถนาดีของพจน์ อานนท์ ที่จะใช้ “หลวงพี่แจ๊ส” เป็น “เครื่องมืออย่างหนึ่ง” ในการสะท้อนถึงมุมอัปลักษณ์ในแวดวงพุทธศาสนา ตัวการบั่นทอนสังคม/ศาสนา เป็นเหลือบไรที่ทำให้สังคมศาสนามัวหมอง ทั้งนี้ยังมีข้อสรุปที่หนังพยายามบอกผ่านปากตัวละครว่า ใครทำกรรมเช่นใด ก็ย่อมจะได้รับผลกรรมเช่นนั้น เฉกเช่นกับพระเก๊พระเทียมหรือพวกที่อาศัยศาสนาประกอบการทำมาหากิน สุดท้ายก็มีจุดจบที่ไม่สวยด้วยกันทั้งนั้น และ… ผมชอบการแดกดันของหนังที่เล่าเรื่องว่า สุดท้ายแล้ว เราก็มักจะจับไอ้มารศาสนาพวกนี้ไม่ได้จริงๆ สักทีหรอก!

 

ขณะเดียวกัน … ไหนๆ ก็ตั้งลำมา ว่าเป็นหลวงพี่ยุค 5G แล้ว สิ่งหนึ่งซึ่งเราจะได้เห็นในหนังก็คือ การที่ผู้กำกับยุค 3G4G หยิบเอาเรื่องราวที่เคยเป็นประเด็นฮอตฮิตมาใส่ไว้ในหนังเยอะแยะไปหมด ซึ่งแทบทั้งหมดก็ต้องบอกว่าเป็น “ประเด็นดราม่าทางสื่อโซเชียล” นั่นล่ะ พอหยิบมาแล้วก็ให้ “หลวงพี่เทศน์” อย่างนั้นอย่างนี้ โดยเฉพาะเรื่องการมีสติมีปัญญา “รู้เท่าทันอารมณ์ตัวเองและอารมณ์สังคม” (มีการที่พจน์ อานนท์ อำตัวเองด้วย ในกรณีโดนอัดทางโซเชียล) การหยิบเอาเรื่องราวดราม่าเหล่านี้มาเล่า ก็เข้าใจว่า พจน์ อานนท์ คงต้องการให้หนังมีความใกล้ชิดกับคนดู เพราะเดี๋ยวนี้ทุกคนมีสมาร์ทโฟนใช้กันแทบหมดแล้ว และก็คงผ่านตาข่าวดราม่าพวกนี้มาบ้าง

เขียนมาขนาดนี้… หลายคนอาจจะมีคำถามว่า นี่จะมาอวยกันใช่ไหม?

ก็ไม่ขนาดนั้นหรอกครับ แค่พยายามจับเรดาร์ความคิดของคนทำหนังว่าเขาต้องการสื่อสารอะไรยังไง และทีนี้ จะว่าไปถึงเรื่ององค์ประกอบต่างๆ ว่ามันเข้าที่เข้าทางเพียงใด

ก็อย่างที่หลายคนจะได้เห็นครับว่า ลำพังแค่ตัดหนังตัวอย่าง หนัง “หลวงพี่แจ๊ส 5G” มีความพยายามจะตามเทรนด์ให้ทันทุกประเด็นตลอด ซึ่งสิ่งนี้จะมองว่าเป็นความนึกสนุกของคนทำหนังก็มองได้ แต่การที่มีอะไรต่อมิอะไรในหนังเยอะแยะไปหมด มันทำให้สารตั้งต้นหรือประเด็นที่จะเล่าจริงๆ เกิดอาการส่ายเซ ไม่เป็นเนื้อเป็นหนัง ผมอยากจะเทียบง่ายๆ อย่างนี้ กับหนังพระรุ่นพี่ที่มาในแนวตลกเหมือนกัน อย่าง “หลวงพี่เท่ง” ผมเห็นว่า หนังมีการเล็ง “ตัวเรื่อง” หรือสคริปต์ไว้แน่นอนแล้วว่า จะ “เล่าเรื่อง” อะไร ซึ่งเมื่อมีความชัดเจน มันส่งผลอย่างมากต่อ “การดำเนินเรื่อง” ของหนัง พูดง่ายๆ ก็คือหลวงพี่เท่งนั้นมีเป้าหมายปลายทางที่จะไปชัดเจน ส่วนหลวงพี่แจ๊สจะแวะข้างทางบ่อยมาก เพราะไปให้ความสำคัญกับ “เรื่องที่เป็นกระแส” มากเกินไป

อันที่จริง เรื่องในกระแส ถ้านำมาใช้แล้วมันสอดรับกับตัวเรื่องหลัก ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ถ้ามันไม่ทำให้หนังดูรกรุงรังโดยใช่เหตุ ขณะเดียวกัน การใช้เน็ตไอดอลหรือคนดังๆ จากโซเชียล อาจจะคิดว่าเป็นการช่วยเหลือกันหรือหวังผลทางการตลาด และจะปลอดจากคำครหาว่า “เกาะกระแส” ถ้าหนังมีบทที่แข็งแรงให้พวกเขาแสดง สูตรต้มยำทำแกง “เรื่องและคนในกระแส” จึงเปรียบเหมือนการเอาวัตถุดิบจากเมนูที่แตกต่างหลากหลายมาเทลงในหม้อเดียวกัน สุดท้ายรสชาติที่ได้ ถ้าเกิดเป็นแกงโฮะก็ว่าไปอย่าง แต่นี่คือ ไม่กลมกล่อมกลมกลืน

หนังขาดความต่อเนื่องในการดำเนินเรื่องอย่างที่ควรจะมี มุกบางมุกไม่ควรจะมี เช่น มุกหนุ่มปืน … แม้หนังจะพยายามหาความชอบธรรมเกี่ยวกับเรื่องการตัดสินคน หรือการทำดีร้อยครั้ง จะถูกลบล้างด้วยการทำชั่วเพียงครั้งเดียว ดังนั้น ควรมีสติก่อนทุกการกระทำ … แต่มันก็เป็นการใส่เข้ามาแบบหวังผลว่าคนคนนี้ดัง จึงเอามาใส่ในหนัง … อย่างมุก “ออเจ้า” อะไรนั่น โดยส่วนตัว ผมเห็นว่า มันเป็นการเกาะกระแสโดยไม่จำเป็น ถ้าเราใหญ่พอ เจ๋งพอ จะไปเกาะเขาทำไม เราก็เล่าเรื่องของเราไปดีกว่า… อย่างนั้นนะครับ เพราะกระแสพวกนี้ มาๆ เดี๋ยวก็ไป แต่หนังของเราจะอยู่อีกยาวนาน

 

อีกประการหนึ่ง… การนำเอาประเด็นดราม่าทางสังคมเหล่านั้นเข้ามาใส่ ไม่ได้ถูกทำให้ “แหลมคม” แตกต่างจากที่เราเคยได้ยินได้ฟังหรือได้เห็นในคอมเมนท์จากที่อื่นๆ แต่อย่างใด คือยังอยู่ในระดับ “จับกระแส” เอากระแสมาเล่นมาเล่าเพียงเท่านั้น แล้วให้หลวงพี่แจ๊สจับคำเทศน์สรุปใส่ลงไปว่าควรจะอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งโดยพื้นฐานที่สุด ก็เป็นคำพูดแนวพระที่เก็บมาเตือนสติเตือนใจได้

สุดท้ายนะครับ พูดมาทั้งหมด ก็เหมือนจะไปคาดหวังกับหนังมากเกินไป และจะไปเอาสำมะหาอันใดกับหนังตลก … ถามว่า แล้วในส่วนที่ควรคาดหวังบ้าง อย่างเรื่อง “ความตลก-ความฮา” ล่ะ เป็นอย่างไร เพราะมันเป็นหนังตลก ก็ต้องคาดหวังเรื่องความตลก

พูดตามความจริง ร้อยเปอร์เซ็นต์ของมุกตลก ผมให้สักห้าหรือสิบเปอร์เซ็นต์ อันนี้ไม่น่าจะเป็นแค่ผมคนเดียว แต่อย่างที่บอกว่า คนดูรอบเดียวกันกว่า 20-30 คน ผมนึกว่าพวกเขาหลับกันไปหมดแล้วด้วยซ้ำ มีได้ยินขำๆ หัวเราะกันอยู่ 2-3 ครั้ง น่าจะได้ มุกบางมุก ผมเห็นว่า ดูน่าเกลียดเฉียดอีเดียตไปหน่อยเดียว อย่างมุกแก้ผ้าเณรน้อย เล่นเยอะไปจนดูไม่น่ารัก หรืออย่างมุกเด็กวัดสองคนเต้นท่าซั่มเป็ดต่อหน้าโยมที่กำลังใส่บาตรหลวงพี่แจ๊ส ไม่น่าใส่เข้ามาเลย

เอ้า ไหนๆ ก็พูดถึงเด็กวัดสองคนแล้ว ก็ขอเพิ่มเติมอีกหน่อยครับ ผมว่าหนังคิดบทหรือมุกตลกให้พวกเขาได้ไม่เวิร์กเอาซะเลย จะว่าเกรียนก็ไม่ใช่ จะว่าจัญไรก็ไม่เชิง แต่หลายคนคงรู้สึกเหมือนกันครับว่า มันดูออกไปในทางน่ารำคาญเสียมากกว่า (อันนี้หมายถึง “ตัวบท” นะครับ ไม่ได้หมายถึงน้องๆ สองคน) คือชอบเสียงดัง ปากดี แต่มุกไม่โดน อันนี้ถ้ามีภาคหน้า ก็ฝากพิจารณาเรื่องมุกฮาของน้องสองคนนี้หน่อยครับ เพราะยิ่งเล่นไป จะยิ่งกลายเป็นตัวละครที่ไม่น่ารักไปซะเปล่า

หนังตลกแบบพจน์ อานนท์ แบบที่มีพลพรรคนักแสดงตลก น่าจะเป็นทางที่ชัดเจนที่สุดครับ อย่างพวกซีรี่ส์หอแต๋วแตกอะไรพวกนั้น ที่อย่างน้อยๆ ก็ได้บรรดาดาราตลกมาช่วยกันโยนมุกตบมุก แต่กับหลวงพี่แจ๊ส 5G นี้ ผมยังนึกตลกตัวเองจนถึงขณะนี้ที่ไปดูหนังตลกซึ่งไม่ตลกจนน่าตลก หรือว่าจริงๆ แล้ว โลกนี้มันก็ดูน่าตลกแบบนี้ล่ะครับ!